ปกิณกะ พระเครื่อง / แล่ม จันท์พิศาโล ครั้งที่ 66

06 มิถุนายน 2563 ยอดผู้ชม 4810 ครั้ง


พระบัวเข็ม หรือ พระอุปคุต  กับ

ประเพณีตักบาตรเที่ยงคืนวันเป็งปุ๊ด


พระบัวเข็ม (พระอุปคุต) เนื้อผงสมุกคลุกรักปิดทอง


                พระบัวเข็ม  หรืออีกชื่อที่เรียกกันในดินแดนล้านนาว่า  พระอุปคุต  เป็นพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า  ผู้เปี่ยมด้วยพุทธานุภาพ และฤทธิเดชเกรียงไกร มีชื่อเสียงในการปราบพญามาร และกำจัดสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง เป็นพระเถระสำคัญในสมัย พระเจ้าอโศกมหาราช  ท่านจะละบำเพ็ญฌานจากใต้ท้องสมุทร ขึ้นมาโปรดสัตว์โลก โดยจะมาในร่างของ  “เณรน้อย”  ออกบิณฑบาตในยามเที่ยงคืน ของทุกวันขึ้น 15 ค่ำ ที่ตรงกับวันพุธ หรือ “วันเพ็ญพุธ”  ที่ทางเหนือเรียกว่าวัน “เป็งปุ๊ด” ในแต่ละปีอาจจะมีเพียงครั้งเดียว หรือมากกว่าหนึ่งครั้ง หรือไม่มีเลยก็เป็นได้



วันเป็งปุ๊ด (วันเพ็ญพุธ)ประเพณีตักบาตรเที่ยงคืน

       ประเพณีตักบาตรเที่ยงคืน ในวัน “เป็งปุ๊ด”  พบมากในดินแดนล้านนา โดยเฉพาะที่ จ.เชียงใหม่, จ.เชียงราย, จ.แม่ฮ่องสอน ฯลฯ  เนื่องจากได้รับเอาอิทธิพลจากพม่า เมื่อครั้งอาณาจักรล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า  ชาวล้านนาเชื่อกันว่า หากผู้ใดได้ทำบุญตักบาตรกับ พระอุปคุต  ในคืนวัน “เป็งปุ๊ด” แล้วจะได้รับอานิสงส์ผลบุญมากเป็นพิเศษ เป็นสิริมงคล มีโชคลาภ ร่ำรวย และได้รับการคุ้มครองจาก พระอุปคุต เสมอ  ทำให้ชาวล้านนาเตรียมอาหารแห้ง และดอกไม้ ออกมาใส่บาตรกันในยามค่ำคืน “เป็งปุ๊ด” เป็นจำนวนมาก  จนทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่  (สำหรับปีนี้ วันเพ็ญพุธ ตรงกับ วันพุธที่ 6 พฤษภาคม 2563 วันวิสาขบูชา อยู่ในช่วงโรคระบาด โควิต-19 จึงได้งดพิธีนี้) กล่าวสำหรับ พระบัวเข็ม (พระอุปคุต)  มีทั้งทำจากไม้โพธิ์แกะ, ทำจากเนื้อว่าน ผงใบลานลงรักปิดทอง หรือปั้นขึ้นจากผงคลุกรักทั้งองค์ และมีการบรรจุเม็ดพระธาตุไว้ภายในองค์พระด้วย 

        พระบัวเข็ม  ที่แกะจากกิ่งไม้พระศรีมหาโพธิ์ ลงรักปิดทอง รูปพระเถระนั่งก้มหน้า มีใบบัวคลุมศีรษะ มีเข็มหมุดปักตามตัวหลายแห่ง นั่งอยู่บนฐานดอกบัวหงายดอกบัวคว่ำรองรับ ใต้ฐานเป็นลายลักษณ์ปั้นทรงนูนต่ำ รูปดอกบัว ใบบัว และรูปปลา

พระบัวเข็ม เข้ามาแพร่หลายในประเทศไทยครั้งแรก เมื่อปลายสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบัวเข็ม ในประเทศไทย มี 2 แบบ คือ แบบมอญ และแบบพม่า  ทั้งสองแบบต่างอาศัยรูปแบบของ พระบัวเข็ม ในอินเดียเป็นหลัก โดยมาแก้ไขตามความนิยมชาวพม่าและมอญ

ที่คนไทยเรียกว่า  “พระบัวเข็ม”  เนื่องจากองค์พระมีเข็มหมุดปักตามตัวหลายแห่ง เพื่อบรรจุพระธาตุ  ต่อมาพระธาตุหายาก จึงปักเข็มมุดไว้เฉยๆ มี 3 เข็ม, 5 เข็ม, 7 เข็ม และ 9 เข็ม ตามที่ต่างกัน คือ ที่หน้าผาก 1ที่แขน 2 ข้าง,  ที่หน้าอก 1ที่มือ 2 ข้างที่ศีรษะ 1เข่า 2 ข้าง และด้านหลัง 1 นอกจากนี้ยังมีพิเศษอีก 4 แบบ คือ  1.แบบฉันอาหาร  2. แบบปรกมังกร ศิลปะพม่าผสมจีน  3. แบบคลุมโปง และ 4. แบบทรงเครื่อง สร้างโดยกษัตริย์

        ปัจจุบัน ในเมืองไทยมีผู้สร้าง พระบัวเข็ม (พระอุปคุต) ด้วยฝีมือช่างคนไทย  ส่วนใหญ่จะเป็นงานเททองหล่อด้วยเนื้อโลหะ ถ้าจะหาบูชา พระบัวเข็ม (พระอุปคุต)  ที่สร้างด้วยไม้โพธิ์แกะ หรือผงว่าน ผงใบลาน ผงดอกไม้บูชา ก็ต้องหาจากทางภาคเหนือ  ซึ่งนำเข้ามาจากพม่า ทั้งของรุ่นเก่า อายุหลายสิบปี ถึงร้อยปีก็มี  รวมทั้งของที่เพิ่งสร้างใหม่ แต่ลงรักปิดแผ่นทองวิทยาศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ ถ้าเป็นของเก่าจะปิดแผ่นทองโบราณ เป็นทองแท้ สนนราคาอยู่ที่หลักพันต้นขึ้นไป ตามขนาดใหญ่เล็ก ศิลปะ และความเก่าเป็นหลัก ชาวล้านนาส่วนใหญ่เชื่อว่า พระบัวเข็ม กับ พระอุปคุต เป็นองค์เดียวกัน  แต่เป็นคนละปางเท่านั้น  ส่วนนักวิชาการบางคนกล่าวว่า เป็นคนละองค์





พระบัวเข็ม (พระอุปคุต) เนื้อผงสมุกคลุกรักปิดทอง
พระบัวเข็ม (พระอุปคุต) เนื้อผงสมุกคลุกรักปิดทอง






พระบัวเข็ม (พระอุปคุต) 4 ด้าน เนื้อผงสมุกคลุกรักปิดทอง
พระบัวเข็ม (พระอุปคุต) 4 ด้าน เนื้อผงสมุกคลุกรักปิดทอง





พระบัวเข็ม (พระอุปคุต) เนื้อไม้โพธิ์แกะ ปั้นแต่งด้วยรัก

ขอขอบพระคุณ ภาพและข้อมูลจาก  คุณศราพงค์ วงค์น้ำ (ไก่ สวนดอก) นักสะสมพระเครื่องชาวเชียงใหม่