พระยอดขุนพล กรุวัดเสมาสามชั้น จ.เพชรบุรี เนื้อชินตะกั่วสนิมแดง
พระเครื่องที่ได้ชื่อว่า “ยอดขุนพล” มีการจัดสร้างกันมาแต่โบราณกาล ตั้งแต่สมัยลพบุรี, สุโขทัย, อยุธยา ฯลฯ มีทั้งเนื้อชินเงิน, เนื้อชินตะกั่วสนิมแดง และเนื้อดิน องค์ต้นแบบของ พระยอดขุนพล คือ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ, กรุวัดนครโกษา และกรุวัดไก่ เมืองลพบุรี เป็นพระที่มีพุทธศิลป์สมัยลพบุรียุคต้น นอกจากนี้ยังมี พระยอดขุนพลกำแพงเพชร, พระยอดขุนพลอยุธยา (กรุวัดราชบูรณะ), พระยอดขุนพล กรุวิหารพระ จ.ชัยนาท, พระยอดขุนพล กรุวัดเสมาสามชั้น จ.เพชรบุรี ฯลฯเอกลักษณ์สำคัญของ พระยอดขุนพล คือ พระเครื่องที่มีลักษณะครบ 4 ประการ คือ 1. องค์พระสวมมงกุฎแบบเทริดขนนก 2. ประทับนั่งอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว 3. เป็นพระปางมารวิชัย และ 4.ประทับอยู่บนฐานกลีบบัวเล็บช้าง (ถ้าไม่มี “ซุ้มเรือนแก้ว” ตัดขอบชิดองค์จะเรียกว่า “พระเทริดขนนก”)
พระยอดขุนพล ไม่ว่าขุดพบจากกรุไหนเมืองไหน ก็ตาม ล้วนมีพุทธศิลป์แบบลพบุรียุคต้น องค์พระมีความสวยงามอลังการยิ่ง ทำให้เชื่อได้ว่าเป็นฝีมือการแกะแม่พิมพ์โดย “ช่างหลวง” อย่างแน่นอน กล่าวเฉพาะ พระยอดขุนพล กรุวัดเสมาสามชั้น เนื้อชินสนิมแดง จ.เพชรบุรี พุทธศิลป์สมัยลพบุรียุคต้น อายุกว่า 700 ปี ขุดพบที่ กรุวัดเสมาสามชั้น (วัดร้าง) ปัจจุบัน คือ ที่ตั้งของวิทยาลัยเทคนิคเพชรบุรี (เดิมชื่อ โรงเรียนการช่างชายเพชรบุรี) โดยขุดพบ 2 ครั้ง ครั้งแรกในราว พ.ศ.2473 ครั้งที่ 2 ประมาณ พ.ศ.2513 เป็นพระเครื่องเนื้อชินสนิมแดง แบบเปลือกมังคุดแก่ หรือสีลูกหว้าสุก ประมาณ 200 องค์ มี 2 พิมพ์ คือ พิมพ์พระยอดขุนพล และพิมพ์พระเทริดขนนก ลักษณะเป็นพระทรงเครื่อง คือ พระเศียรทรงเทริด ประดับมงกุฎแบบหมวกขนนก รอบพระศอประดับด้วยสังวาลห้อยระย้า ประทับนั่งปางมารวิชัย ในซุ้มเรือนแก้ว บนฐานกลีบบัวเล็บช้าง ด้านหลังเป็นแอ่งเล็กน้อย และมีลายผ้าทั่วหลังองค์พระ
พระยอดขุนพล เป็นพระเครื่องที่เหมาะสำหรับแม่ทัพนายกอง
หรือผู้บริหารองค์กรใหญ่ๆ
เพื่อเพิ่มอำนาจบารมีในการปกครองผู้น้อย
พุทธคุณเด่นด้านคงกระพัน แคล้วคลาดปลอดภัย และเมตตามหานิยม องค์สวยๆ เช่าหากันที่หลักแสนขึ้นไป
(ขอขอบคุณ ภาพจากหนังสือ “พระกรุเนื้อชินยอดนิยม” จัดทำโดยทีมงานนิตยสาร “พระท่าพระจันทร์” / ข้อมูลจาก คุณชาติ วิศิษฏ์สรอรรถ)
(ด้านหน้า) (ด้านหลัง)