“พระนั่งพัดปรกโพธิ์” เนื้อชินเงิน กรุวัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา

25 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 7228 ครั้ง

เจาะลึกพระเครื่อง ตอนที่ 42 / แล่ม จันท์พิศาโล

////////////////////////////////////////////////////////////////////////

“พระนั่งพัดปรกโพธิ์” เนื้อชินเงิน กรุวัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา

////////////////////////////////////////////////////////////////////////

“พระนั่งพัดปรกโพธิ์” เนื้อชินเงิน กรุวัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา (ด้านหน้า)
“พระนั่งพัดปรกโพธิ์” เนื้อชินเงิน กรุวัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา (ด้านหลัง)
     สมเด็จพระนครอินทราธิราช แห่งราชวงศ์สุวรรณภูมิ ทรงครองราชย์กรุงศรีอยุธยา ระหว่าง พ.ศ.1952-1967 เมื่อเสด็จสวรรคต เกิดการแย่งราชสมบัติกันขึ้น ระหว่างพระโอรสองค์โต (เจ้าอ้ายพระยา) กับพระโอรสองค์รอง (เจ้ายี่พระยา) โดยชนช้างกันจนสิ้นพระชนม์ทั้ง 2 พระองค์ พระโอรสองค์ที่ 3 (เจ้าสามพระยา) เสด็จมาภายหลัง จึงได้เสด็จขึ้นครองราชย์ มีพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 โปรดให้สร้างเจดีย์ขึ้น 2 องค์ ครอบบริเวณที่ชนช้างของพระเชษฐาธิราชทั้ง 2 พระองค์ และที่ถวายพระเพลิงให้สร้างขึ้นเป็นพระอารามชื่อว่า วัดราชบูรณะ      ต่อมาได้บรรจุสิ่งของมีค่าต่างๆ ไว้ในเจดีย์ของวัดนี้ อาทิ พระพุทธรูป พระเครื่อง ปฏิมากรรมเครื่องทอง ฯลฯ มากมาย ตลอดเวลาที่ผ่านมาได้มีชาวบ้านแอบเข้าไปขุดหาของมีค่าต่างๆ ในเจดีย์องค์นี้เสมอ จนทางราชการได้ทำพิธีเปิดกรุวัดราชบูรณะอย่างเป็นทางการ เมื่อ พ.ศ.2502      ในครั้งนั้นได้พบเครื่องทอง พระพุทธรูป และพระเครื่องต่างๆ จำนวนมากมาย ส่วนใหญ่เป็นพระเนื้อชินถึง 80% นอกจากนี้ยังมีพระเนื้อดิน ที่มีพุทธศิลป์สมัยอยุธยาแท้ๆ จัดได้ว่าเป็นพระร่วมสมัย เพราะได้รับอิทธิพลของพระหลายยุคมาผสมผสานกัน ที่เรียกว่า “พระย้อนศิลป์” คือ นายช่างในสมัยนั้นได้สร้างแม่พิมพ์ขึ้นใหม่ โดยเลียนแบบพระยุคเก่าก่อน เป็นต้นแบบทางด้านศิลปะและจินตนาการ ไม่ได้นำองค์จริงของเดิมมาถอดพิมพ์แต่ประการใด พระย้อนศิลป์บางพิมพ์จึงมีความสวยงามโดดเด่นในอีกรูปแบบหนึ่ง      พระบางชนิดมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ซึ่งเป็นพระที่ไม่ใช่พระย้อนศิลป์ เช่น พระซุ้มร่มโพธิ์ เป็นพุทธศิลป์อยุธยาบริสุทธิ์ เน้นองค์พระในรูปแบบภาพลายเส้น บางพิมพ์สร้าง โดยใช้จินตนาการจริงๆ ของช่างฝีมืออยุธยา โดยเน้นถึงพระอิริยาบถของพระพุทธเจ้า ซึ่งมิได้เลียนแบบพุทธศิลป์สมัยใดๆ มาก่อน อาทิ พระพิมพ์นั่งพัดปรกโพธิ์ ในวงการพระตั้งชื่อพระพิมพ์นี้ตามพุทธลักษณะที่เห็นจากองค์พระอย่างง่ายๆ      ถ้าพิจารณาโดยละเอียดแล้ว จะเห็นว่าพุทธลักษณะของพระพิมพ์นี้ ควรเป็นพระปางหนึ่งในการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า คือ ในพระหัตถ์ขวาของพระองค์ไม่น่าจะเป็น “พัด” แต่ควรจะเป็น “ตาลปัตร” ของพระสงฆ์ที่ใช้ในการแสดงพระธรรมเทศนามากกว่า      พระพุทธองค์ทรงประทับโดยพระบาทขวาทับพระบาทซ้าย พระหัตถ์ขวาที่จับตาลปัตรตั้งตรง ส่วนพระหัตถ์ซ้ายวางแนบแน่นที่กลางพระอุระ สื่อได้ถึงพลังมุ่งมั่นของพระองค์ขณะทรงโปรดแสดงธรรม ขณะที่พระพักตร์กำลังแย้มพระสรวล ให้ผู้ที่พบเห็นและกำลังฟังธรรมในขณะนั้นได้ชื่นชมในพระมหาบารมี      นอกจากนี้ยังมีอีกมากมายที่วางรูปแบบศิลป์อย่างลงตัวและสวยงามมาก อาทิ ทั้ง 2 ด้านของพระพุทธองค์ ดุจดั่งเทวดา 2 องค์จากเบื้องบนลงมานั่งพนมมือฟังธรรม โดยดูได้จากเหนือพระเศียรของทั้ง 2 มีกรอบวงโค้งที่เป็นรัศมีครอบคลุมอยู่ บางคนบอกว่านี่คือ พระโมคคัลลาน์ และ พระสารีบุตรพระอัครสาวกในพระพุทธเจ้า      ขณะเดียวกัน พระพิมพ์นี้ยังงดงามอลังการในการออกแบบสร้าง โดยเนรมิตให้พระพุทธเจ้าประทับบนฐานดอกบัว 2 ชั้น องค์พระอยู่ในซุ้มเรือนแก้วที่เป็นลายกนกโค้ง 2 ชั้น ที่ฐานประทับเป็นลายกลีบดอกบัวมากกว่า 20 ดอก  เน้นตรงกลางด้วยดอกบัว 2 ดอกคู่ใหญ่ บนและล่างได้อย่างสวยงาม รับกับลวดลายของเส้นซุ้มกนกใหญ่ที่พลิ้วไหวอยู่ที่ซุ้มส่วนบนให้เห็น ไล่เรียงลงมาเป็นลายเล็กๆ ดูเด่นชัดเจน ตรงบริเวณของเสาซุ้มด้านล่าง      ส่วนเหนือด้านบนสุดประดับด้วยลายกิ่งก้านสาขา พร้อมใบไม้เล็กใหญ่ที่สื่อถึง “ต้นโพธิ์” ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับและตรัสรู้      พระพิมพ์นั่งพัดปรกโพธิ์ จัดอยู่ในประเภทพระแผงที่มีขนาดใหญ่ มีความกว้าง 7.5 ซม. สูง 8.5 ซม. บางองค์มีทองเก่าปรากฏให้เห็นทั้ง 2 ด้าน และบริเวณด้านหลังมีลายผ้าแบบลายเล็กเป็นคลื่นๆ ปรากฏรอยเบาๆ อีกด้วย      องค์พระมีน้ำหนักมากพอสมควร เนื่องจากเป็นพระที่ตอนเทหล่อเนื้อพระมากและค่อนข้างหนา แต่มีร่องรอยของการระเบิดเฉพาะแห่ง ที่เกิดมาจากข้างในของเนื้อพระ ให้เห็นทั้ง 2 ด้าน บ่งบอกถึงความเก่าแท้ของเนื้อพระที่มีอายุมากกว่า 500 ปี      พระพิมพ์นี้ราคาเช่าบูชายังไม่สูงมากนัก ประมาณหลักพันปลายๆ ถึงหลักหมื่นต้น เหมาะสำหรับไว้สักการบูชาประจำบ้านเรือน เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของทุกคนในครอบครัว      ขอขอบพระคุณ ภาพและข้อมูลจาก คุณชาติ วิศิษฏ์สรอรรถ นักสะสมพระเครื่องเนื้อชินมานานปี จนมีความชำนาญพระเครื่องเนื้อนี้