“พระกริ่งอรหัง” วัดราชาธิวาส ปี 2496 ถอดพิมพ์ “พระกริ่งปวเรศ” วัดบวรฯ

25 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 20379 ครั้ง

“พระกริ่งอรหัง” วัดราชาธิวาส ปี 2496 ถอดพิมพ์ “พระกริ่งปวเรศ” วัดบวรฯ แล่ม จันท์พิศาโล


..................................
พระกริ่งอรหัง วัดราชาธิวาส ปี 2496 (หน้า)
พระกริ่งอรหัง วัดราชาธิวาส ปี 2496 (หลัง)
พระกริ่งอรหัง วัดราชาธิวาส ปี 2496 (ก้น)
กล่องเดิมๆ ที่ใส่ “พระกริ่งอรหัง” วัดราชาธิวาส ปี 2496
     พระกริ่งอรหัง วัดราชาธิวาส สามเสน กทม. ปี 2496 จัดสร้างโดย พระศาสนโสภณ (ปลอด อถฺการี) เนื้อทองโลหะที่นำมาสร้างพระกริ่งเป็นพระพุทธรูปบูชา สมัยเชียงแสน จากกรุต่างๆ ในภาคเหนือ ที่ชำรุดแตกหัก เป็นจำนวนมาก แล้วนำมาหลอมเป็นเนื้อชนวนหลัก พร้อมทั้งทองพันปีของหลวงพ่อโอภาสี      นอกจากนี้ยังมีแผ่นทอง แผ่นเงินจารอักขระ ถูกต้องตามตำราดั้งเดิมทุกประการ ประกอบพิธีเททอง ณ พระอุโบสถ วัดราชาธิวาส สร้างตามตำราและพิธีการของการหล่อพระกริ่งทุกประการ      รูปแบบของพระกริ่ง ถอดพิมพ์จาก พระกริ่งปวเรศ องค์ในพิพิธภัณฑ์วัดบวรนิเวศ เป็นต้นแบบ      เนื่องจากฝีมือช่างในสมัยนั้นถอดแบบออกมาไม่ค่อยละเอียดประณีต จึงทำให้ พระกริ่งอรหัง วัดราชาธิวาส ไม่คมชัดสวยงามเท่าที่ควร จำนวนสร้างประมาณ 800 องค์      พิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถ วัดราชาธิวาส โดยมีพระคณาจารย์ชื่อดังหลายท่าน นั่งปรกปลุกเสกตลอดทั้งวันทั้งคืน      ในครั้งนั้น ทางวัดได้นำออกให้ทำบุญเช่าบูชาองค์ละ 1,000 บาท ซึ่งสมัยนั้นนับว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างสูงมาก      การเททองหล่อ พระกริ่งอรหัง วัดราชาธิวาส เป็นการเทแบบหล่อตันทั้งองค์ แล้วนำมาเจาะรูด้วยสว่านใต้ฐาน บรรจุเม็ดกริ่งภายหลัง อุดรูด้วยทองชนวน พร้อมกับตอกโค้ดคำว่า "อรหัง" เป็นอักขระขอม แบบตัวบรรจง เส้นตัวตอกจะลึกคมชัด      เนื้อของ พระกริ่งอรหัง วัดราชาฯ นี้ จะออกไปทางเนื้อสัมฤทธิ์ คล้ายกับเนื้อพระบูชาเชียงแสนสิงห์สาม องค์นี้สภาพสวยแชมป์ผิวเดิมๆ สีเหลืองทองทั้งองค์ สวยงามมาก ในทุกวันนี้พระสวยสภาพนี้หาของแท้ได้ยากยิ่ง      ขอขอบพระคุณ คุณเอ พระราหู เจ้าของพระองค์นี้ พร้อมกับข้อมูลประกอบบทความนี้
พระศาสนโศภน (ปลอด อตฺถการี)
     วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนคร ใกล้หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ถนนสามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร      เป็นวัดที่ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงสถาปนาจาก “วัดสมอราย” โดยได้รับการปฏิสังขรณ์ต่อเนื่องตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 จนถึงในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดราชาธิวาสวิหาร” มีความหมายว่า “วัดอันเป็นที่ประทับของพระราชา” เป็นวัดแรกที่ถือกำเนิด คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย      พระอุโบสถของวัดนี้เป็นทรงขอม คล้ายนครวัด ออกแบบโดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มี พระสัมพุทธพรรณี เป็นพระประธาน (ร.5 หล่อพระราชทาน)      พระศาสนโศภน (ปลอด อตฺถการี) อดีตเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส ผู้สร้าง พระกริ่งอรหัง วัดราชาธิวาส เมื่อปี 2496 มีนามเดิมว่า ซุยหิ้น วัฒโนดร เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 ตุลาคม 2445 เป็นชาวจังหวัดสงขลา ศึกษาจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนมหาวชิราวุธ  ต่อมาเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กทม.      บรรพชาอุปสมบท เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2465 ที่วัดธรรมบูชา จ.สุราษฎร์ธานี ได้รับฉายาว่า "อตฺถการี" อยู่วัดธรรมบูชา 1 พรรษา จากนั้นได้ย้ายมาอยู่ที่วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร จนได้เป็นเจ้าอาวาสวัดนี้      พ.ศ.2499 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์สุดท้าย เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระศาสนโศภน      พระศาสนโศภน (ปลอด อตฺถการี) มรณภาพเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคม 2521 สิริรวมอายุ 77ปี