พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลีบบัว “หลังหนังสือ 5 แถว” และ “รุน ๑” (ไม่มีไม้เอก)

25 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 74891 ครั้ง

พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลีบบัว “หลังหนังสือ 5 แถว” และ “รุน ๑” (ไม่มีไม้เอก)

พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ จ.ปัตตานี มีทั้งเนื้อว่าน รุ่นแรก ปี 2497, พระหล่อโบราณหลังเตารีด ปี2505, พระปั๊มหลังตัวหนังสือ ปี 2505 และเหรียญรุ่นต่างๆ อีกมากมาย ทุกวันนี้ทุกรุ่นทุกพิมพ์ล้วนเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะรุ่นที่ทัน ท่านพระครูวิสัยโสภณ (พระอาจารย์ทิม ธัมมธโร) ปลุกเสก (พระอาจารย์ทิม เกิดเมื่อ 21 ส.ค.2455  มรณภาพเมื่อ 30 พ.ย.2512) พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลีบบัว หรือที่บางคนเรียกว่า พิมพ์สามเหลี่ยมเล็ก เป็นพระปั๊มเช่นเดียวกับ พระชุดหลังหนังสือ ปี 2505 คือ ด้านหน้ามีรูปหลวงพ่อทวดนั่งสมาธิบนฐานบัวสองชั้น และมีตัวหนังสือด้านหลัง แต่ พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลีบบัว มีขนาดเล็กกว่า และบางกว่ากันมาก (มีบางท่านบอกว่า พระอาจารย์ทิม ตั้งใจสร้างพระพิมพ์นี้สำหรับผู้หญิงและเด็ก เพราะพระหลังเตารีดและหลังตัวหนังสือ มีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก ไม่เหมาะกับผู้หญิงและเด็ก) พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลีบบัว มีหลายพิมพ์และหลายเนื้อ จำนวนสร้างไม่มีการระบุไว้อย่างชัดเจน พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลีบบัว แบ่งออกเป็น 3 พิมพ์หลัก คือ 1.พิมพ์กลีบบัว หลังหนังสือ 5 แถว ปี 2506   2.พิมพ์กลีบบัว รุน ๑ (ไม่มีไม้เอก) ปี 2508  และ 3.พิมพ์กลีบบัว รุ่น ๑ (มีไม้เอก) ปี 2511 (ปีที่สร้างนี้ อ้างอิงจากรายการประกวดพระที่  สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ให้สนับสนุน เพราะวงการพระได้ยอมรับเป็นหลักสากลนิยมไปแล้ว แม้จะมีบางท่านได้เสนอปีที่สร้างที่แตกต่างไปจากนี้ก็ตาม) พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลีบบัว หลังหนังสือ 5 แถว ปี 2506 แบ่งออกเป็น 2 พิมพ์ย่อย คือพิมพ์แข้งยาว (นิยม) และ พิมพ์แข้งสั้น ลักษณะที่เด่นชัดของพระพิมพ์นี้ คือ มีตัวหนังสือด้านหลังจำนวน 5 แถว (ความจริงน่าจะเป็น 6 แถว เพราะมีอักขระขอมตัว “นะ” อยู่ข้างบนสุดอีก 1 แถว)  พระที่หมุนเวียนในวงการส่วนใหญ่เป็นเนื้อทองเหลืองรมดำ ที่มีจำนวนน้อย คือ เนื้อนวโลหะ และ เนื้ออัลปาก้า สำหรับ พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลีบบัว รุน ๑ (ไม่มีไม้เอก) ปี 2508 พระพิมพ์นี้สันนิษฐานว่ามีการนำแม่พิมพ์ของ พระพิมพ์กลีบบัว หลังหนังสือ 5 แถว แข้งสั้น มาปรับแต่งเป็นแม่พิมพ์ใหม่ พร้อมกับตกแต่งแม่พิมพ์ด้านหลัง โดยเพิ่มตัวหนังสือ 2 บรรทัดล่าง คำว่า "เหยียบน้ำทะเลจืด รุน ๑" (สังเกตคำว่า “รุน ๑” ไม่มีไม้เอก ซึ่งอาจจะเป็นความพลั้งเผลอของช่างแกะแม่พิมพ์ มากกว่าที่จะเป็นความจงใจ) พระพิมพ์กลีบบัว รุน ๑ (ไม่มีไม้เอก) เท่าที่พบเห็นมี 2 พิมพ์หลัก คือ พิมพ์ที่ 1 หลังมีเส้นแตกมาก-สระเอไม่ชัด ตรงคำว่า "เหยียบน้ำทะเลจืด” และ พิมพ์ที่ 2 หลังมีเส้นแตกน้อย-สระเอชัด ตรงคำว่า "เหยียบน้ำทะเลจืด" พระพิมพ์นี้ เท่าที่ปรากฏมีทั้งเนื้อทองแดงรมดำ, เนื้อทองเหลืองรมดำ, เนื้อกะไหล่ทอง และเนื้อตะกั่ว   นอกจากนี้พระพิมพ์นี้ บริเวณเหนือศีรษะ หลวงพ่อทวด จะปรากฏเส้นพาดเฉียงเป็นแพ อันเนื่องจากการตกแต่งแม่พิมพ์ (แม่พิมพ์เดิม กลีบบัวหลังหนังสือ 5 แถว แข้งสั้น ปี 2506) ก่อนนำมาปั๊มเป็นพระพิมพ์นี้ ปัจจุบัน พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลีบบัว รุน ๑ (ไม่มีไม้เอก) พิมพ์ที่ ๑ หลังมีเส้นแตกมาก-สระเอไม่ชัด จัดเป็นพิมพ์นิยม ในชุดพระพิมพ์กลีบบัวด้วยกัน สำหรับค่านิยมของ พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลีบบัว สภาพสวยแชมป์ในทุกวันนี้ สรุปได้ดังนี้ 1.พิมพ์กลีบบัว หลังหนังสือ 5 แถว พิมพ์แข้งยาว ราคาหลักแสนต้น, พิมพ์แข้งสั้น หลักหมื่นปลาย  2.เหรียญพิมพ์กลีบบัว รุน ๑ (ไม่มีไม้เอก) ราคาหลักหมื่นกลาง และ พิมพ์กลีบบัว รุ่น ๑ (มีไม้เอก) ราคาหลักหมื่นต้น (ขอขอบพระคุณ ภาพและข้อมูลจาก ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต)
พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลีบบัว หลังหนังสือ 5 แถว ปี 2506 พิมพ์แข้งยาว (นิยม)
พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลีบบัว หลังหนังสือ 5 แถว ปี 2506 พิมพ์แข้งยาว (นิยม)
พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลีบบัว หลังหนังสือ 5 แถว ปี 2506 พิมพ์แข้งสั้น (นิยม)
พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลีบบัว หลังหนังสือ 5 แถว ปี 2506 พิมพ์แข้งสั้น (นิยม)
พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลีบบัว รุน ๑ (ไม่มีไม้เอก)
พระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลีบบัว รุน ๑ (ไม่มีไม้เอก)
พระหลวงพ่อทวด. พิมพ์กลีบบัว รุน ๑ (ไม่มีไม้เอก)
พระหลวงพ่อทวด. พิมพ์กลีบบัว รุน ๑ (ไม่มีไม้เอก)