พระกริ่ง 7 รอบ / พระกริ่งปวเรศ 30 อันเกี่ยวเนื่องกับ “ในหลวง” ร.9

25 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 20886 ครั้ง

พระกริ่ง 7 รอบ

รอบปีที่ผ่านมา พระเครื่อง ที่ได้รับความสนใจจากนักสะสมและชาวบ้านทั่วไป ไม่มีอะไรมากไปกว่าพระเครื่องอันเกี่ยวเนื่องกับ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากข่าวการเสด็จสวรรคตของพระองค์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2559 เวลา 15.52 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช สิริพระชนมพรรษา 89 พรรษา ทรงครองราชย์ 70 ปี พระเครื่องต่างๆ รวมทั้งเหรียญพระรูปเหมือนซึ่งมีมากมายหลายรุ่น ล้วนได้รับความสนใจจากวงการพระเครื่องและชาวบ้านทั่วไปอย่างกว้างขวาง ในจำนวนนี้ก็มี พระกริ่ง 7 รอบ หรือ พระกริ่งพระพุทธชินสีห์ สร้างขึ้นโอกาสฉลองพระชนมายุครบ 7 รอบ ของ สมเด็จพระพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์) วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งเสด็จฯออกทรงผนวช เมื่อ พ.ศ.2499 ความเกี่ยวเนื่องของพระกริ่งรุ่นนี้ กับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ก็คือเป็นพระกริ่งเพียงรุ่นเดียวที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ ทรงเททองด้วยพระองค์ในขณะทรงผนวช โดยเสด็จฯ แทนสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ซึ่งทรงพระประชวร เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2499 เวลา 07.35 น. พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ศาลาหน้าพระอุโบสถ ไวยาวัจกรทูลเกล้าฯ ถวายแผ่นทองคำลงพระยันต์อักขระ 84 แผ่น ทรงวางแผ่นทองคำทั้งหมดลงในเบ้าหลอม เวลา 07.41 น. ทรงถือสายสิญจน์ ซึ่งโยงจากเบ้าเททองหล่อ พระกริ่ง 7 รอบ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลพระคาถา พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธีเททองหล่อแทนสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ จนกระทั่งพิธีเสร็จสมบูรณ์ทุกขั้นตอน พระกริ่ง 7 รอบ จึงสำเร็จด้วยอำนาจแห่ง พระรัตนตรัยาธิคุณ มีความศักดิ์สิทธิ์เข้มขลัง และเต็มเปี่ยมไปด้วยพระบุญญาบารมีของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงถึงพร้อมด้วยพระกำลังแห่งพระราชหฤทัยของพระองค์ ที่บริบูรณ์ด้วยศีลาจาริยวัตรอันบริสุทธิ์ ต่อมาอีก 2 วัน คือวันที่ 5 พฤศจิกายน 2499 พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงลาผนวช พระกริ่ง 7 รอบ รุ่นนี้จึงถือได้ว่า เป็นพระกริ่งเพียงรุ่นเดียวที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะทรงผนวช ทรงประกอบพิธีเททองหล่อด้วยพระองค์เอง (ขอขอบพระคุณ ข้อมูลและภาพจาก คุณผเลสน์ศิริปิติสานต์)
พระกริ่งพระพุทธชินสีห์ หรือ พระกริ่ง 7 รอบ สมเด็จพระพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์) พ.ศ.2499 ของ คุณผเลสน์ศิริปิติสานต์
พระกริ่งพระพุทธชินสีห์ หรือ พระกริ่ง 7 รอบ สมเด็จพระพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์) พ.ศ.2499 ของ คุณผเลสน์ศิริปิติสานต์
พระกริ่งพระพุทธชินสีห์ หรือ พระกริ่ง 7 รอบ สมเด็จพระพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์) พ.ศ.2499 ของ คุณผเลสน์ศิริปิติสานต์
พระกริ่งพระพุทธชินสีห์ หรือ พระกริ่ง 7 รอบ สมเด็จพระพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์) พ.ศ.2499 ของ คุณผเลสน์ศิริปิติสานต์

พระกริ่งปวเรศ 30 อันเกี่ยวเนื่องกับ “ในหลวง” ร.9

พระกริ่ง อีกรุ่นหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือพระกริ่งปวเรศ ปี 2530 เป็นพระกริ่งที่ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างขึ้น เนื่องในโอกาสมหามงคลสมัยที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ (60 พรรษา) เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2530 ล้นเกล้าฯ ได้เสด็จฯ ทรงประกอบพิธีเททองหล่อปฐมมหามงคลฤกษ์ ณ บริเวณพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม 2528 จึงนับได้ว่า พระกริ่งปวเรศ 30 รุ่นนี้มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยตรง พระกริ่งปวเรศ ที่ทรงประกอบพิธีเททองหล่อในวันนั้น มีจำนวน 10 ช่อ ใน 1 ช่อมีพระกริ่ง 21 องค์ นอกจากนี้ยังมี พระชัยวัฒน์ปวเรศ อีก 10 ช่อ ใน 1 ช่อมีพระชัยวัฒน์ 31 องค์ หลังจากนั้นทางวัดได้นำก้านชนวนของพระกริ่งและพระชัยวัฒน์ทั้ง 20 ช่อนี้ไปเป็น ชนวน หล่อหลอมกับเนื้อนวโลหะมงคลอีกจำนวนมาก เพื่อใช้ในการเททองหล่อพระกริ่งและพระชัยวัฒน์ต่อไป จนครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ คือ 25,300 ชุด ประกอบด้วย พระกริ่ง 25,300 องค์ พระชัยวัฒน์ 25,300 องค์ พระกริ่งพระชัยวัฒน์ ที่หล่อในเวลาต่อมานั้น เจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร (สมณศักดิ์ในขณะนั้น) เป็นผู้ประกอบพิธีเททองหล่อติดต่อกัน 9 วัน โดยมี พระอมรโมลี (สมณศักดิ์ในขณะนั้น ปัจจุบันคือ สมเด็จพระวันรัต) เป็นผู้ควบคุมดูแลการหล่อพระ อาจารย์กิจจา วาจาสัจ เป็นผู้ดำเนินงาน และ ช่างประสิทธิ์ พรหมรักษ์ เป็นหัวหน้าคณะทำงานหล่อพระทั้งหมด ทางวัดได้กำหนดให้คณะช่างที่ตกแต่งองค์พระ รวมทั้งการบรรจุ เส้นพระเจ้า ผงจิตรลดา ที่ได้รับพระราชทาน และ เม็ดกริ่ง ภายในวัดทั้งหมด โดยได้จัดห้องทำงานไว้ต่างหาก ห้ามไม่ให้ช่างนำองค์พระกลับไปตกแต่งที่บ้านโดยเด็ดขาด และเมื่อมีการเข้าออกห้องทำงาน จะมีการตรวจตราเป็นพิเศษอีกด้วย เมื่องานตกแต่งองค์พระเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางวัดได้ประกอบพิธีพุทธาภิเษกขึ้น 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 วันเสาร์ที่ 12 เมษายน 2529 ครั้งที่ 2 พิธีวันวิสาขบูชา วันพุธที่ 21 และวันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม 2529 ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร และครั้งที่ 3 พิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน 2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ ทรงเป็นองค์ประธานในพิธี สมเด็จพระญาณสังวร เป็นประธานพิธีอธิษฐานจิต ร่วมกับพระภาวนาจารย์อีก 36 รูป ร่วมนั่งปรกอธิษฐานจิต เมื่อเสร็จพิธีทั้งหมดแล้ว ทางวัดได้นำ พระกริ่ง พระชัยวัฒน์ ปวเรศ 30 ออกให้สาธุชนทำบุญบูชา ชุดละ 5,000 บาท ใน 1 ชุดมีพระกริ่ง 1 องค์ และพระชัยวัฒน์ 1 องค์ นับเป็นพระกริ่งที่เกี่ยวเนื่องกับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยตรงอีกรุ่นหนึ่งที่ได้รับความนิยมสูงในปัจจุบัน
พระกริ่งปวเรศ 2530 วัดบวรนิเวศวิหาร