"พระหลวงพ่อจุก" ยันต์เกือกม้า พระกรุเมืองลพบุรีที่หายากยิ่ง

25 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 30423 ครั้ง
พระหลวงพ่อจุก เป็นพระเนื้อดินที่โด่งดังสุดของกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ต.ท่าหิน อ.เมือง จ.ลพบุรี เป็นพระกรุที่ชาวเมืองลพบุรีรักและหวงแหนกันมาก ประสบการณ์เล่าขานไม่แพ้ พระหูยานและ พระร่วงหลังลายผ้า พระปรางค์องค์ใหญ่ ที่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สร้างมาไม่ต่ำกว่า ๘๐๐ ปี รอบๆ พระปรางค์มีเจดีย์รายล้อมหลายองค์ พระหลวงพ่อจุก แตกกรุจากเจดีย์ที่รายล้อมพระปรางค์องค์ใหญ่ ซึ่งสร้างขึ้นในบริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี เจดีย์องค์นี้ คือ เจดีย์จมดิน องค์ที่ ๒ นับจากเจดีย์พูมะเฟือง ในเจดีย์องค์นี้ได้พบ พระหลวงพ่อจุก, พระแผงสามพี่น้อง และ พระแผงนารายณ์ทรงปืน รวมอยู่ด้วย พระหลวงพ่อจุก อีกส่วนหนึ่งพบที่ วิหารเก้าห้อง ซึ่งไม่ได้อยู่ในกรุ โดยพบเรี่ยราดตามเสาโบสถ์ และพื้นดินที่เป็นทราย วางเรียงเป็นชั้นๆ นอกจากนี้ยังพบที่ วัดบันไดหิน จ.ลพบุรี เป็นพระเครื่องที่สร้างในสมัยเดียวกัน เพราะสมัยก่อน วัดบันไดหิน เป็นอาณาบริเวณเดียวกันกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เอกลักษณ์ของ พระหลวงพ่อจุก เป็นพระศิลปะแบบปาละของอินเดีย องค์พระมีขนาดค่อนข้างเขื่องมาก กว้างประมาณ ๓ ซม. สูงประมาณ ๖ ซม. องค์พระประทับนั่งปางสมาธิขัดราบแบบครึ่งซีก รอบองค์พระมองดูคล้ายๆ กำลังเข้าฌาน ด้านหลังแบนเรียบ บางองค์มีรอยปาดด้วยของมีคม บางองค์มีรอยมือ และที่พิเศษสุด คือ บางองค์จะพบรอยจาร ยันต์เกือกม้าโบราณ พระเกศ (ผม) ขมวดเป็น “จุก” อันเป็นที่มาของชื่อ พระหลวงพ่อจุก พระพักตร์ (ใบหน้า) อิ่มเอิบ พระนาสิก (จมูก) พระโอษฐ์ (ปาก) พระเนตร (ตา) ชัดเจนมาก พระกรรณ (หู) ยาวลงมาชิดพระอังสา (ไหล่) พระอุระ (อก) ยืดผึ่งผายน่าเกรงขาม พระหลวงพ่อจุก แตกกรุออกมาหลายครั้ง ตั้งแต่ปี ๒๔๓๐-๒๕๐๘ คาดว่าก่อนหน้านี้อาจจะแตกกรุออกมาแล้วก็ได้ ด้านประสบการณ์ ว่ากันว่า เคยมีผู้ทดลองยิง แต่ยิงไม่ออก จนมีคำเล่าขานกันว่า ปืนไม่ดัง หนังไม่ถลอก มีข้อน่าคิดที่สำคัญอีกประการ คือ ผู้ขุดพบ พระหลวงพ่อจุก และพระเครื่องต่างๆ จากเจดีย์อีกองค์หนึ่ง เป็นเจดีย์ไม้สิบสองย่อมุมขนาดใหญ่ ทางทิศตะวันตกขององค์พระปรางค์ พบแก้วแหวนเงินทองมากมาย มีทั้งแผ่นทองฉลุหลายสิบกิโลกรัม และพบกำปั่นเงิน-กำปั่นทอง ที่มีดอกไม้เงินดอกไม้ทอง สมัยอยุธยา พระเครื่องที่ล้อมรอบกำปั่นนั้นเป็น พระหลวงพ่อจุก เรียงกันเป็นแถว แสดงว่า พระหลวงพ่อจุก นี้มีดีมีคุณอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองป้องกัน แคล้วคลาดปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง ในการค้นพบครั้งนั้น เป็นที่น่าเสียดายว่า มีแผ่นทองจารึกภาษาขอมโบราณ และแผ่นฉลุทองคำ คนขุดหาพระได้นำไปขายให้ร้านทองในเมืองอยุธยาและลพบุรี จนหมดสิ้น ทำให้ไม่ทราบประวัติว่า ใครเป็นผู้ให้กำเนิดพระเครื่องในกรุนี้ พระหลวงพ่อจุก องค์นี้เป็นพระองค์หนึ่งที่มีความสวยงามสมบูรณ์มาก และที่สำคัญ คือ พระองค์นี้ด้านหลังมี รอยจาร ยันต์เกือกม้า เข้าใจว่าเป็นอักขระขอมตัว “พะ” ยันต์นี้จารมาตั้งแต่กดพิมพ์องค์พระใหม่ ก่อนนำเข้าเตาเผา (ที่เรียกว่า “จารเปียก”) พระหลวงพ่อจุก เป็นพระเครื่องที่ช่างจินตนาการศิลปะได้ดีเยี่ยม แฝงไว้ซึ่งพุทธธรรมในองค์พระพุทธรูป ที่คนโบราณสร้างสืบต่อกันมา คือ  ๑. องค์พระประทับนั่งสงบนิ่ง อมยิ้ม ทำสมาธิเข้าฌาน ทำจิตใจให้สงบ  ๒. พระเกศแหลม แสดงถึงการใช้สติปัญญาอันเฉียบแหลมชาญฉลาด รอบคอบ ใช้ปัญญาวิเคราะห์หลักเหตุผล ไม่มีปัญหาใดไร้ทางออก  ๓. พระกรรณ (หู) ยานจรดพระอังสา (ไหล่) นั่นคือ ให้ใช้หูฟัง ต้องเป็นคนหูหนัก ฟังแล้ววิเคราะห์ ไม่หลงเชื่ออะไรง่ายๆ  ๔. พระเนตร ดูเหมือนท่านมองต่ำ เป็นการสอนให้เรามองตัวเองก่อน ให้รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน ทั้งหมดนี้ คือ คติธรรมในองค์พระหลวงพ่อจุก ซึ่งเป็นพระเครื่องที่มีความงดงามมาก พุทธลักษณะจำลองมาจากพระพุทธรูปอินเดีย ศิลปะปาละ ให้พวกเราได้สักการบูชา หรือใช้ติดตัวเป็นสิริมงคลสืบไป (ขอขอบพระคุณ ภาพและข้อมูลจาก ศ.นพ.พรพรหม เมืองแมน โรงพยาบาลศิริราช)
พระหลวงพ่อจุก กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี เนื้อดินเผา หลังจารยันต์เกือกม้า ศิลปะแบบปาละของอินเดีย องค์พระกว้างประมาณ ๓ ซม. สูงประมาณ ๖ ซม.