เหรียญหล่อ “พระคันธารราฐ” วัดพระปฐมเจดีย์ฯ พ.ศ.2476

25 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 30693 ครั้ง
เหรียญหล่อ “พระคันธารราฐ” วัดพระปฐมเจดีย์ฯ พ.ศ.2476 แล่ม จันท์พิศาโล 
                  /////////////////////////////////////////////////////////

      คันธารราษฎร์, คันธารราฐ, คันธาราฐ หรือ คันธาระ (Gandhara) เป็นชื่อแคว้นโบราณในอินเดีย และเป็นชื่อของพระพุทธรูปปางเก่าแก่ที่สุด สำหรับตั้งในพิธีขอฝน เป็นฝีมือของชาวคันธารราฐ ที่เรียกว่า “พระพุทธคันธารราฐ” อันเป็นพระพุทธรูปยุคแรกในศาสนาพุทธ ราวพุทธศตวรรษที่ 6-12

     สำหรับ ประเทศไทย พระคันธารราฐ หรือ พระขอฝน เป็นพระพุทธรูปสำคัญของประเทศองค์หนึ่ง ที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ.2326 เดิมประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาปลายรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และสร้างปูชนียสถานเพิ่มเติม ได้สร้างหอ       พระคันธารราษฎร์ (พระคันธารราฐ) ขึ้นที่มุมระเบียงด้านหน้าพระอุโบสถ เป็นอาคารขนาดเล็กยอดปรางค์ เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป และเทวรูปสำคัญที่ใช้ในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (ข้อมูลจาก สารานุกรม “วิกิพีเดีย”)

เหรียญหล่อพระคันธารราฐ พิมพ์ทรงเสมา ฉลุข้าง พ.ศ.2476 เนื้อทองผสม
เหรียญหล่อพระคันธารราฐ พิมพ์ทรงเสมา ฉลุข้าง พ.ศ.2476 เนื้อทองผสม


         ในส่วนของพระบูชาและพระเครื่อง พระธรรมวโรดม (โชติ) เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรวิหารจ.นครปฐม รูปที่ 6 ช่วง พ.ศ.2465-2497 (ท่านเกิดเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2423 มรณภาพวันที่ 19 ธันวาคม 2497 สิริอายุ 74 ปี กับ 3 เดือน พรรษา 54) ได้จัดสร้าง พระคันธารราฐ (พระบูชาและพระหล่อ) เมื่อ พ.ศ.2476 เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระเทพสุธี” ซึ่งเป็นพระหล่อชุดแรกของวัดพระปฐมเจดีย์ฯ (พระบูชาคันธารราฐองค์ใหญ่ องค์เล็ก และเหรียญหล่อแบบพระเครื่อง

เหรียญหล่อพระคันธารราฐ พิมพ์กลีบดอกจำปา พ.ศ.2476 เนื้อทองผสม
เหรียญหล่อพระคันธารราฐ พิมพ์กลีบดอกจำปา พ.ศ.2476 เนื้อทองผสม

       เหรียญพระคันธารราฐ เป็นเหรียญหล่อแบบโบราณ มี 3 พิมพ์ คือ พิมพ์ทรงเสมา, พิมพ์กลีบดอกจำปา และพิมพ์แบบปลายข้าว (ใบหอก)

เหรียญหล่อพระคันธารราฐ พิมพ์กลีบดอกจำปา พ.ศ.2476 เนื้อทองผสม
เหรียญหล่อพระคันธารราฐ พิมพ์กลีบดอกจำปา พ.ศ.2476 เนื้อทองผสม

     นอกจากนี้ยังมี เหรียญรูปเหมือน “พระเทพสุธี” ด้านข้างครึ่งองค์ ลักษณะกลมรีย่อมุม ทั้งหมดนี้หล่อด้วยเนื้อโลหะทองผสม ชนวนเดียวกันกับพระบูชายืน (สำหรับ พระพิมพ์กลีบดอกจำปา กับพิมพ์ใบหอก ยังมีเนื้อเมฆพัด (แร่) อีกอย่างละ 500 องค์)

เหรียญหล่อพระคันธารราฐ พิมพ์แบบปลายข้าว (ใบหอก) พ.ศ.2476 เนื้อทองผสม
เหรียญหล่อพระคันธารราฐ พิมพ์แบบปลายข้าว (ใบหอก) พ.ศ.2476 เนื้อทองผสม

     พิธีพุทธาภิเษก วันพฤหัสบดีที่ 13 เมษายน ถึงวันเสาร์ที่ 15 เมษายน 2476 ในเขตพุทธาวาส ณ วิหารคด ระเบียงรอบในองค์พระปฐมเจดีย์ โดยมี พระพุทธวิถีนายก (บุญ ขนฺธโชติ) วัดกลางบางแก้ว ประธานจุดเทียนชัย  พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า อาทิตย์ทิพอาภา ข้าหลวงใหญ่ จังหวัดนครปฐม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พระเถระที่ทรงคุณวิทยาคมขลังร่วมนั่งปรกปลุกเสกบรรจุพุทธาคม อาทิ หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว, หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน,  หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง,  หลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา, หลวงพ่อชา วัดสามควายเผือก,  หลวงพ่อสอน วัดป่าเลไลยก์, หลวงพ่อวงษ์ วัดทุ่งผักกูด, หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค,  หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก, หลวงพ่อจันทร์ วัดบ้านยาง, หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม, หลวงปู่สุข วัดห้วยจระเข้, หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม,  พระเทพสุธี (โชติ) วัดพระปฐมเจดีย์, หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ, หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก, หลวงพ่อพา วัดระฆัง, หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้, หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว ฯลฯ

เหรียญหล่อพระคันธารราฐ พิมพ์แบบปลายข้าว (ใบหอก) พ.ศ.2476 เนื้อเมฆพัด (แร่)
เหรียญหล่อพระคันธารราฐ พิมพ์แบบปลายข้าว (ใบหอก) พ.ศ.2476 เนื้อเมฆพัด (แร่)

     นับได้ว่า เหรียญหล่อพระคันธารราฐ ทั้ง 3 พิมพ์ และเหรียญรูปเหมือนพระเทพสุธี (โชติ) วัดพระปฐมเจดีย์ พ.ศ.2476 เป็นเหรียญยอดนิยมอีกชุดหนึ่งที่มีความโดดเด่นของพิมพ์ทรง พิธีการสร้าง อายุความเก่าเกือบร้อยปี และพระเถราจารย์ที่นั่งปรกปลุกเสก ซึ่งล้วนเป็นผู้ทรงคุณวิทยาคมขลัง ย่อมเป็นวัตถุมงคลสูงค่า ที่น่าสะสมไว้สักการบูชาเป็นอย่างยิ่ง

(ขอขอบคุณ ภาพและข้อมูลจาก นิตยสาร “พระท่าพระจันทร์” ฉบับเดือนตุลาคม 2560)