พระพิมพ์สมเด็จ เจ้าคุณนรฯ หลัง “งู” พ. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกองทหาร “จงอางศึก”

25 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 10171 ครั้ง

เจาะลึกพระเครื่อง ตอนที่ 47 พระพิมพ์สมเด็จ เจ้าคุณนรฯ หลัง “งู” พ. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกองทหาร “จงอางศึก”


/////////////////////////////////////////////////////////////////
พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต (ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ) หรือ “ท่านเจ้าคุณนรฯ”

       พระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์) เกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2440 บรรพชาอุปสมบท เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2468 ณ วัดเทพศิรินทราวาส โดยมี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถระ) เป็นพระอุปัชฌาชย์ ได้รับฉายาทางสมณเพศว่า "ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ"

       การอุปสมบทครั้งนี้ก็เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ

       หลังจากพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพผ่านไปแล้ว พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต หรือ  ท่านเจ้าคุณนรฯ (ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ) ก็ยังครองสมณเพศต่อไปจนถึงวันมรณภาพ (8 มกราคม 2514)

       ตลอดเวลาที่อยู่ในสมณเพศ ท่านธมฺมวิตกฺโก มีความเคร่งครัดในศีลธรรม และการประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง ท่านจะลงโบสถ์ทำวัตรเช้าและเย็นวันละ 2 ครั้ง และไม่ออกนอกวัดเพื่อไปในงานหรือกิจการใด ไม่พบปะพูดคุยกับผู้ใดนัก นอกจากการสนทนาธรรม

      เนื่องจากท่านเป็นสมณะที่เคร่งครัด อุดมไปด้วยศีลาจารวัตรที่งดงาม จึงมีผู้คนไปขอพรท่านเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการขออนุญาตจัดสร้างพระเครื่องอยู่เสมอ จึงปรากฏว่าพระเครื่องที่ท่านอธิษฐานจิตให้มีจำนวนมากรุ่นพอสมควร

พระพิมพ์สมเด็จ ท่านเจ้าคุณนรฯ หลัง “งู” พ. (หรือรุ่น “พูลทรัพย์”) ปี 2513
พระพิมพ์สมเด็จ ท่านเจ้าคุณนรฯ หลัง “งู” พ. (หรือรุ่น “พูลทรัพย์”) ปี 2513

     มีพระเครื่องพิมพ์สมเด็จอยู่รุ่นหนึ่งที่มีผู้เข้าใจผิดกันมาตลอด คือ พระพิมพ์สมเด็จ ท่านเจ้าคุณนรฯ หลัง “งู” พ. ปี 2513 ที่วงการพระเครื่องเรียกกันผิดๆ มาตลอดว่า รุ่น “จงอางศึก” ทั้งๆ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองกำลังทหารอาสาสมัคร “จงอางศึก” ที่ไปปฏิบัติการรบในประเทศเวียดนาม เมื่อ พ.ศ.2510-2511 เพราะพระรุ่นนี้สร้างปี 2513 แต่กองกำลังทหารอาสาสมัคร “จงอางศึก” มีมาก่อนหน้านั้น 2-3 ปี

     การที่วงการพระเครื่องเรียกพระพิมพ์สมเด็จ รุ่นนี้ว่า “จงอางศึก” ก็เพราะเห็นว่าหลังองค์พระพิมพ์นี้มีรูป “งู” อยู่ด้วย ก็เลยเข้าใจกันเองว่าพระรุ่นนี้สร้างเพื่อแจกกองกำลังทหารอาสาสมัคร “จงอางศึก”

     ความเป็นจริง คือ พระพิมพ์สมเด็จ ท่านเจ้าคุณนรฯ รุ่นนี้ คุณคณิน ภูวเสถียร อดีตผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ หลายสาขาในเขต กทม. เป็นผู้สร้างขึ้น เพื่อแจกเป็นของที่ระลึกในงานฌาปนกิจ คุณแม่พูลทรัพย์ ภูวเสถียร เมื่อปี 2513

  ในวันที่คุณแม่พูลทรัพย์ถึงแก่กรรม คุณคณินได้บวชให้คุณแม่ที่วัดเทพศิรินทร์ ซึ่งสมัยนั้นพนักงานธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ พลับพลาไชย จะเอารถไปจอดที่วัดเทพศิรินทร์ เนื่องจากที่จอดรถในสำนักงานมีไม่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้พนักงานธนาคารกรุงเทพ จึงรู้จักมักคุ้นกับพระสงฆ์ในวัดเทพศิรินทร์เป็นอย่างดี โดยเฉพาะ ท่านเจ้าคุณอุดมฯ ผู้จัดสร้างพระเครื่องท่านเจ้าคุณนรฯ หลายรุ่น

     ขณะที่บวชอยู่นั้น คุณคณิน ได้ปรารภกับท่านเจ้าคุณอุดมฯ ว่าวันจัดพิธีฌาปนกิจศพคุณแม่พูลทรัพย์ ไม่ทราบว่าจะหาของชำร่วยอะไรดีที่จะแจกให้แก่ผู้มาร่วมงาน

     ท่านเจ้าคุณอุดมฯ เสนอว่าให้สร้างพระเครื่อง ซึ่งท่านมีแม่พิมพ์ด้านหน้าอยู่แล้ว เปลี่ยนแต่แม่พิมพ์ด้านหลังเท่านั้น คุณคณินเห็นดีด้วย จึงมอบเรื่องนี้ให้ท่านเจ้าคุณอุดมฯ ช่วยดำเนินการ

     ท่านเจ้าคุณอุดมฯ จึงได้นำแม่พิมพ์พระสมเด็จที่มีอยู่แล้วมาใช้ ส่วนด้านหลังให้ช่างแกะแม่พิมพ์ขึ้นมาใหม่ โดยเพิ่มกรอบสี่เหลี่ยมเล็กๆ จมลงในเนื้อพระ มีรูป“งู” อยู่ข้างในกรอบเป็นรูปนูน ด้านล่าง “งู” มีตัวอักษร “พ.”มาจากชื่อของคุณแม่ “พูลทรัพย์” ส่วนรูป “งู” หมายถึงปีมะเส็ง อันเป็นปีเกิดของคุณแม่พูลทรัพย์

นี่คือที่มาของ พระพิมพ์สมเด็จ ท่านเจ้าคุณนรฯ หลัง “งู” พ. ที่แท้จริง

     เมื่อสร้างพระพิมพ์สมเด็จนี้เรียบร้อยแล้ว ท่านเจ้าคุณอุดมฯ ได้นำไปขอบารมีจาก ท่านเจ้าคุณนรฯ แผ่เมตตาอธิษฐานจิตให้เป็นกรณีพิเศษ จำนวน ๘๐๐ องค์

     ผู้ที่ได้รับแจกพระพิมพ์นี้ส่วนใหญ่ คือ พนักงานธนาคารกรุงเทพ และญาติมิตรของคุณคณิน ที่ไปร่วมงานฌาปนกิจศพในวันนั้น

    คุณคณินพอใจมากที่ผู้เขียนได้เขียนถึงชื่อพระรุ่นนี้ว่า ไม่ควรเรียกว่า รุ่น “จงอางศึก” น่าจะเรียกว่า พระพิมพ์สมเด็จหลัง “งู”  หรือ พระพิมพ์สมเด็จ รุ่น “พูลทรัพย์” มากกว่า เท่าที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครเขียนถึงพระพิมพ์นี้อย่างถูกต้องเลย

     อนึ่ง การที่เรียกว่า “พระพิมพ์สมเด็จ” ท่านเจ้าคุณนรฯ ไม่เรียกว่า พระสมเด็จ ท่านเจ้าคุณนรฯ ก็เพราะว่าท่านเจ้าคุณนรฯ ไม่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ระดับ “สมเด็จ” นั่นเอง

0 แล่ม จันท์พิศาโล 0              -----------////----------------------