พระหลวงปู่ศุข วัดดอนตาล หลังยันต์นูนใหญ่ เนื้อทองผสม

25 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 66106 ครั้ง

แล่ม จันท์พิศาโล

////////////////////////////////////////////

“พระหลวงปู่ศุข” ออกที่วัดดอนตาล หลังยันต์นูนใหญ่ เนื้อทองผสม

/////////////////////////////////////////////////    

     พระพิมพ์นี้มีประวัติแน่นอนว่าหลวงปู่ศุข สร้างแจกจ่ายเมื่อคราวฉลองมณฑป วัดปากคลองมะขามเฒ่า พ.ศ.2464 คนรุ่นเก่าเรียกว่า “พระรุ่นยกมณฑป” แต่คนสมัยนี้ ซึ่งไม่รู้ประวัติความเป็นมา มักจะเรียกกันว่า “พระพิมพ์หลังยันต์นูน” หรือไม่ก็เรียกว่า “พระหลวงปู่ศุข ออกวัดดอนตาล” อะไรทำนองนี้      ม.ร.ว.อภิเดช อาภากร ได้เขียนไว้ในหนังสือ หลวงปู่ศุข กับ กรมหลวงชุมพรฯ ว่า พระหลวงปู่ศุขพิมพ์นี้มีลักษณะของแม่พิมพ์คล้ายกับพิมพ์ตัดชิดมาก สังเกตดูพิมพ์จะตื้นกว่าพิมพ์ตัดชิดเล็กน้อย สันนิษฐานได้ว่า อาจจะนำแม่พิมพ์ของพิมพ์ตัดชิดมาถอดพิมพ์อีกที ส่วนกรรมวิธีการหล่อคงจะเหมือนกัน เพราะหล่อเป็นแผง มีรอยประกบข้างเช่นเดียวกัน เอกลักษณ์ของพระพิมพ์นี้ก็คือ มีอักขระ "นะขึ้นยอด" หรือ "นะทรหด" อยู่ที่ด้านหลัง

พระหลวงปู่ศุข ออกที่วัดดอนตาล หลังยันต์นูนใหญ่ เนื้อทองผสม (ด้านหน้า)
พระหลวงปู่ศุข ออกที่วัดดอนตาล หลังยันต์นูนใหญ่ เนื้อทองผสม (ด้านหลัง)
     ม.ร.ว.อภิเดช อาภากร ให้รายละเอียดไว้ด้วยว่า พระหลวงปู่ศุข พิมพ์นี้สร้างขึ้นในราวปลาย พ.ศ.2463 จนถึง พ.ศ.2464 เพื่อฉลองงานยกมณฑป ซึ่งวัดปากคลองมะขามเฒ่า เริ่มสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.2456 (คงใช้เวลาหลายปีกว่าจะสร้างมณฑปเสร็จ) เชื่อกันว่า พระพิมพ์นี้จำนวนที่สร้างคงจะเป็นหลักพันองค์ แต่เดิมค่อนข้างหายากมาก      ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2527 ได้มีการพบพระพิมพ์นี้บรรจุอยู่ในกล่องไม้ ใต้ฐานพระประธานโบสถ์ วัดดอนตาล อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท จำนวนหนึ่ง      วัดดอนตาล อยู่ทางใต้ของวัดปากคลองมะขามเฒ่า ห่างกันประมาณ 15 กิโลเมตร ท่านอาจารย์กลับ แสงเขียว หรือ สมุห์กลับ ศิษย์เอกของหลวงปู่ศุข อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนตาล เป็นผู้ยืนยันกับ ม.ร.ว.อภิเดช ว่า...หลวงปู่ศุข สร้างพระพิมพ์หลังยันต์นูน เมื่อคราวยกมณฑปวัดปากคลองมะขามเฒ่า และก่อนที่หลวงปู่ศุขจะมรณภาพ เมื่อ พ.ศ.2466 ท่านได้ส่ง พระสมุห์กลับ ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนตาล พร้อมกับได้มอบพระพิมพ์นี้จำนวนนับพันองค์ ให้พระสมุห์กลับไว้ด้วย
พระหลวงปู่ศุข ออกที่วัดดอนตาล หลังยันต์นูนใหญ่ เนื้อทองผสม (ด้านข้าง)
พระหลวงปู่ศุข ออกที่วัดดอนตาล หลังยันต์นูนใหญ่ เนื้อทองผสม (ด้านข้าง)
     หลังจากนั้นต่อมา พระสมุห์กลับได้ลาสิกขามาใช้ชีวิตฆราวาส และได้มอบ พระหลวงปู่ศุข ให้เจ้าอาวาสวัดดอนตาลรูปต่อมา คือ อาจารย์เชื่อม เป็นผู้เก็บรักษาไว้ ซึ่งอาจารย์เชื่อม ได้นำพระทั้งหมดบรรจุไว้ใต้ฐานพระประธานในโบสถ์ ตั้งแต่ พ.ศ.2482 เป็นต้นมา      สุดท้าย วัดดอนตาล ได้มีการเปิดกรุอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.2527 พบว่า พระหลวงปู่ศุข พิมพ์นี้มีเหลืออยู่เพียง 404 องค์ ทางวัดดอนตาลจึงได้นำพระทั้งหมดออกจำหน่ายจ่ายแจก เพื่อหาเงินสร้างโบสถ์หลังใหม่ และสร้างสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าและยากจน      วงการพระเครื่องในทุกวันนี้จึงมักจะเรียกพระพิมพ์นี้ว่า พระหลวงปู่ศุข ออกที่วัดดอนตาล หลังยันต์นูนใหญ่ เนื้อทองผสม (ขอขอบพระคุณ ข้อมูลและภาพจาก คุณฐกร บึงสว่าง ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ แอพเพิล เวลธ์ จำกัด)