กระแสนิยมเหรียญ “ครูบาบุญชุ่ม” หลังค้นพบ 13 “หมูป่า อะคาเดมี”

23 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 26739 ครั้ง

center
สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศ มกุฎราชกุมารจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก กับ ท่านครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร

จากกรณีนักเรียนทีมฟุตบอล “หมูป่า อะคาเดมี”และ  ผู้ฝึกสอน รวม 13 คน จาก ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย หายเข้าไปในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2561  ต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (นสร.) หรือ “หน่วยซีล” กู้ภัย และหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศจำนวนมาก ได้ร่วมภารกิจปฏิบัติการช่วยเหลือนักฟุตบอลเยาวชนและผู้ฝึกสอน 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน อย่างแข็งขันตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยความยากลำบากอย่างยิ่ง


จนเมื่อวันที่ 2 ก.ค.2561 คณะช่วยเหลือผู้ติดอยู่ในถ้ำได้พบ 13 นักฟุตบอลเยาวชนทีม “หมูป่า อะคาเดมี” ในสภาพที่ทุกคนยังอยู่อย่างปลอดภัย


ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้เมื่อคืนวันที่ 29 มิ.ย.2561 ท่านครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร วัดพระธาตุดอนเรือง เมืองพง รัฐฉาน เมียนมา พระคณาจารย์ชื่อดัง ได้เดินทางมาที่ถ้ำหลวง เพื่อทำพิธีอธิษฐานจิตภาวนา ช่วย 13 ชีวิตกลับบ้านอีกทางหนึ่ง  ตามความเชื่อของชาวบ้าน 


หลังเสร็จพิธีแล้ว ท่านครูบาบอกว่า เด็กๆ ยังมีชีวิตอยู่ อีก 2-3 วัน จะได้เจอ...พอถึงวันที่ 2 ก.ค.ก็ได้เจอจริงๆ ตามที่ท่านครูบาได้กล่าวไว้


จากกรณีนี้ทำให้ผู้ที่ไม่เคยรู้จักท่านครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร มาก่อน ได้รู้จักชื่อเสียงของท่านอย่างกว้างขวาง  ขณะที่กลุ่มลูกศิษย์ซึ่งมีจำนวนมากมายในภาคเหนือทุกจังหวัด ต่างปลาบปลื้มยินดีกันถ้วนหน้า ที่ท่านครูบาได้ทำให้พ่อแม่ของเด็กๆ มีโอกาสได้ลูกหลานกลับคืนมาจริงตามที่ได้ทำพิธี


ศิษยานุศิษย์ของท่านครูบา มิใช่มีแต่ในเมืองไทย หากแต่ยังมีทั้งชาวไทใหญ่ในรัฐฉาน ที่ท่านไปจำพรรษาอยู่ที่เมืองพง นานถึง 18 ปี รวมทั้งชาวเขาเผ่าต่างๆ ทั้งที่อยู่ในพม่าและในเมืองไทย  ไปจนถึงอินเดีย เนปาล ภูฏาน จีน ลาว ฯลฯ ที่ท่านเคยไปปฏิบัติธรรมที่นั่น จนมีผู้เคารพศรัทธาเลื่อมใสมากมาย


พื้นฐานดั้งเดิมของ ท่านครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร ...จากหนังสือ “30 พรรษาในร่มเงาพระพุทธศาสนา ของพระครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร” บันทึกไว้ว่า

center
ท่านครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร วัดพระธาตุดอนเรือง รัฐฉาน เมียนมา

ท่านครูบาบุญชุ่ม นามเดิม “บุญชุ่ม ทาแกง” เกิดเมื่อวันอังคารที่ 5 มกราคม 2508 ณ หมู่บ้านแม่คำหนองบัว  ต.แม่คำ อ.แม่จัน จ.เชียงราย  บิดาชื่อ “คำหล้า” มารดาชื่อ “แสงหล้า” มีพี่น้องทั้งหมด 4 คน ท่านเป็นลูกคนโตสุด


ชีวิตในวัยเด็กลำบากยากจนมาก ต้องอดๆ อยากๆ ตลอดมา  บ่อยครั้งที่ท่านครูบาได้ช่วยคุณแม่ทำงานทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงครอบครัว


ขณะเดียวกัน คุณแม่แสงหล้า เป็นคนมีนิสัยใจดีมีเมตตา ชอบทำบุญ ไปวัดไม่ขาด เมื่อ ด.ช.บุญชุ่ม อายุได้ 4-5 ปี ได้พาไปนอนวัดปฏิบัติธรรม ตั้งแต่ตัวน้อยๆ เวลาเข้าโรงเรียน ด.ช.บุญชุ่ม ชอบเข้าไปไหว้พระในวิหารเสมอๆ


ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2517 คุณแม่ได้พาท่านไปเป็นเด็กวัดบ้านด้ายธรรมประสิทธิ์ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย จนเมื่ออายุ 11 ปีได้บรรพชาเป็นสามเณร  จากนั้นได้เข้ากรรมฐานภาวนา 3 วัน เริ่มเรียนสวดมนต์ และเจริญจิตภาวนา  บวชเป็นสามเณรไม่ถึงเดือน มีชาวบ้านลือกันว่า มี “สามเณรน้อยต๋นบุญ” ถือกำเนิดที่วัดบ้านด้ายธรรมประสิทธิ์  


ช่วงที่ยังเป็น “สามเณรบุญชุ่ม” ท่านได้เดินธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ ใน จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ ข้ามชายแดนไปจนถึงวัดพระธาตุจอมศรีดับเภมุงเมือง วัดพระนอน เมืองพง รัฐฉาน เมียนมา  ต่อมาไปจำพรรษาที่วัดอนันทกุฏีวิหาร กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล


จากนั้นได้เดินทางกลับมาเมืองไทย  เข้าพิธีอุปสมบท

โดยโยมแม่แสงหล้า และลูกศิษย์ เป็นเจ้าภาพ ณ วัดสวนดอก    ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2529 ในวิหารพระเจ้าเก้าตื้อ  โดยมี พระราชพรหมาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระอุปัชฌาย์  พระครูเวสสุวันพิทักษ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์   พระครูศรีปริยัตินุรักษ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์  หลังจากนั้นได้ไปเข้ากรรมภาวนาที่วัดอุโมงค์  จ.เชียงใหม่  7 วัน แล้วกลับไปจำพรรษาที่วัดพระธาตุจอมศรีดับเภมุงเมือง วัดพระนอน เมืองพง และวัดพระธาตุดอนเรือง เมืองพง เมียนมา


       ท่านครูบาบุญชุ่ม จำพรรษาอยู่ในประเทศเมียนมา และเดินธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ นานถึง 18 ปี ได้สร้างเจดีย์พระธาตุและเสนาสนะไว้ทุกแห่งที่จำพรรษา โดย 2 ปีสุดท้ายของการจำพรรษาในต่างแดน ท่านครูบาได้ไปจำพรรษาที่ประเทศภูฏานใน พ.ศ.2546 และใน พ.ศ.2547 ท่านครูบาได้ไปจำพรรษา ณ ชายแดนทิเบต ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ สมเด็จอาของกษัตริย์ประเทศภูฐาน ได้บูรณะซ่อมแซมและถวายให้เป็นที่จำพรรษาของท่านครูบาอีกด้วย


เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2548  สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรภูฏาน ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศ มกุฎราชกุมารจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ได้จัดงานบุญอายุวัฒนมงคลถวายแด่ท่านครูบา เพื่อเป็นมุทิตาจิตสักการะในวัตรปฏิบัติที่งดงามของท่านครูบาตลอดมา


ท่านครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2548  ได้เมตตาให้ลูกศิษย์กราบสักการะโดยทั่วกัน


       อนึ่ง เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2561  เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ได้ประทานพระวโรกาสให้ พระบุญชุ่ม ญาณสํวโร วัดพระธาตุดอนเรือง รัฐฉาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และคณะเข้าเฝ้าถวายสักการะ และเจริญพระพุทธมนต์ถวายสวัสดิมงคล


       สำหรับ วัตถุมงคลที่ท่านครูบาได้เมตตาอธิษฐานจิตให้นั้น เป็นการสร้างถวายของศิษยานุศิษย์หลายคณะ เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสต่างๆ มีหลายรุ่นด้วยกัน เป็นที่นิยมศรัทธาเลื่อมใสอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากเกิดเหตุการณ์การช่วยเหลือนักเรียนทีมฟุตบอล “หมูป่า อะคาเดมี” และผู้ฝึกสอน รวม 13 คน ออกมาจากถ้ำหลวง  ทำให้เกิดกระแสความนิยมศรัทธาวัตถุมงคลของท่านครูบาในวงกว้างขึ้นไปอีก  จนมีผู้สร้าง “ของปลอม” ออกมาวางขายมากมาย  จึงขอเตือนให้ผู้สนใจวัตถุมงคลของท่านครูบาได้โปรดระวังเป็นพิเศษด้วย


เหรียญท่านครูบาบุญชุ่ม รุ่นแรก ปี 2519 สร้างขณะเป็นสามเณร พิมพ์นิยม (ดูที่ “เม็ดประคำ” ตรงกลางเกินไป 1 เม็ด) ของ อาร์ท ไตรรัตน์ เชียงราย
เหรียญท่านครูบาบุญชุ่ม รุ่นแรก ปี 2519 สร้างขณะเป็นสามเณร พิมพ์นิยม (ดูที่ “เม็ดประคำ” ตรงกลางเกินไป 1 เม็ด) ของ อาร์ท ไตรรัตน์ เชียงราย
เหรียญท่านครูบาบุญชุ่ม รุ่นแรก ปี 2519 สร้างขณะเป็นสามเณร พิมพ์ทั่วไป ของ อาร์ท ไตรรัตน์ เชียงราย
เหรียญท่านครูบาบุญชุ่ม รุ่นแรก ปี 2519 สร้างขณะเป็นสามเณร พิมพ์ทั่วไป ของ อาร์ท ไตรรัตน์ เชียงราย
เหรียญท่านครูบาบุญชุ่ม ปี 2546 รุ่น “เจ้าชายจิกมี” พิมพ์ขอบเกลียวเชือก สร้างถวายโดย สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศ มกุฎราชกุมารจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก
เหรียญท่านครูบาบุญชุ่ม ปี 2546 รุ่น “เจ้าชายจิกมี” พิมพ์ขอบเกลียวเชือก สร้างถวายโดย สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศ มกุฎราชกุมารจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก
เหรียญท่านครูบาบุญชุ่ม ปี 2546 รุ่น “เจ้าชายจิกมี” พิมพ์ขอบเรียบ
เหรียญท่านครูบาบุญชุ่ม ปี 2546 รุ่น “เจ้าชายจิกมี” พิมพ์ขอบเรียบ
เหรียญท่านครูบาบุญชุ่ม รุ่น “เม็ดไข่ปลา” ปี 2546
เหรียญท่านครูบาบุญชุ่ม รุ่น “เม็ดไข่ปลา” ปี 2546
เหรียญท่านครูบาบุญชุ่ม รุ่น “น้ำเต้า” ปี 2539
เหรียญท่านครูบาบุญชุ่ม รุ่น “น้ำเต้า” ปี 2539
เหรียญท่านครูบาบุญชุ่ม รุ่น “มหาเศรษฐี” ปี 2540 เนื้อทองคำ ของ เฟิร์ช เชียงราย
เหรียญท่านครูบาบุญชุ่ม รุ่น “มหาเศรษฐี” ปี 2540 เนื้อทองคำ ของ เฟิร์ช เชียงราย