หลวงปู่ครูบาก๋ง (พระครูมงคลรังษี) วัดศรีมงคล อ.ท่าวังผา จ.น่าน

28 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 17047 ครั้ง

หลวงปู่ครูบาก๋ง (พระครูมงคลรังษี)
วัดศรีมงคล อ.ท่าวังผา จ.น่าน


center
หลวงปู่ครูบาก๋ง วัดศรีมงคล อ.ท่าวังผา จ.น่าน อายุ 88 ปี

        ชาติภูมิ พระครูมงคลรังสี นามเดิม "พรมา ไชยปาละ" บิดาชื่อ "ธนะวงศ์" มารดาชื่อ "อูบแก้ว" เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2445 ณ บ้านดอนมูล ต.ศิลาเพชร อ.ปัว จ.น่าน


        การศึกษา ท่านได้ศึกษาที่โรงเรียนประชาบาลบ้านดอนมูล จบชั้น ป.3 จากนั้นได้เรียนหนังสือไทยล้านนา และไทยกลาง ณ วัดดอนมูล จนสามารถอ่านออกเขียนได้คล่อง


        บรรพชา เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2459 ขณะอายุ 14 ปี ที่วัดบ้านดอนมูล ต่อมาเมื่ออายุครบ 21 ปี ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดดอนมูล  โดยมี พระอิทธิยศ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระพรหมวาท เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอินต๊ะวงศ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้นามฉายาว่า “มงคโล ภิกษุ”


        หลังอุปสมบทแล้ว ท่านได้ศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐาน  และถวายตัวเป็นศิษย์ ครูบาหลวงพุทธวงศ์, ครูบาอุปละ, ครูบาญาณะ วัดสวนดอก, ครูบาก๋าอาธะ วัดไฮ่สบบั่ว, ครูบากิตต๊ะวงศ์, ครูบาอินต๊ะ, ครูบาบ้านส้าน, ครูบาขัตติยะ วัดร้อง...ได้ศึกษาและปฏิบัติเป็นเวลา 2 ปี จึงได้กราบลาครูบาและพระอุปัชฌาย์ เพื่อออกไปบำเพ็ญเพียรด้วยตนเอง ตามป่าเขาลำเนาไพร จ.น่าน แล้วออกทะลุป่าดงใหญ่ไปยัง จ.เชียงราย เชียงตุง แล้ววกกลับมาทางเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ ตามป่าเขาอันเงียบสงบ และในป่าช้า ใช้หลุมฝังศพเป็นที่ปฏิบัติธรรมอยู่เป็น เวลา 6 ปี


        ปี 2474 คณะศรัทธาชาวบ้านก๋ง ได้นิมนต์หลวงปู่มาอยู่ประจำที่ วัดบ้านก๋ง เพราะเป็นวัดร้าง ไม่มีพระภิกษุและสามเณรจำพรรษา


หลวงปู่ครูบาก๋ง รับนิมนต์มาอยู่วัดบ้านก๋ง แล้วท่านได้อบรมชาวบ้านทุกวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ แต่มีชาวบ้านบางคนยังขาดความสามัคคี หลวงปู่จึงได้สร้างพระพุทธรูป และประกาศแก่ชาวบ้านให้ทุกคนนำปอยผมของแต่ละคน มามอบให้ แล้วหลวงปู่ก็นำเอาปอยผมของทุกคนบรรจุไว้ในฐานพระ


        ในพิธีบรรจุปอยผม ไม่ว่าเด็กเล็กชายหญิง คนหนุ่มคนสาว คนเฒ่าคนแก่ มาพร้อมเพียงกันทุกคน แล้วหลวงปู่ก็ประกาศว่า...ต่อแต่นี้ไป ชาวบ้านก๋งผู้ใดขืนกระทำความชั่ว พระพุทธรูปจะไม่ให้ความคุ้มครองเป็นอันขาด แต่ถ้าผู้ใดทำความดี ละความชั่ว  ให้หมั่นเข้าวัด รักษาศีล ฟังธรรม พระพุทธรูปจะให้ความคุ้มครองแก่เขาเหล่านั้น ให้มีแต่ความสุข ความเจริญ อายุยืนนาน


        ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปรากฏว่า หมู่บ้านก๋ง เริ่มเป็นดินแดงแห่งความร่มเย็น ชาวบ้านต่างมีเมตตาธรรม มีความสามัคคี รักใคร่กลมเกลียว เลิกอบายมุขทั้งหลายจนหมดสิ้น ต่างกลับมาฝึกกรรมฐานกันทั้งหมู่บ้าน จนทำให้ชื่อเสียงเกียรติคุณของหลวงปู่ขจรขจายไปทุกหมู่บ้าน ทั่วทั้ง จ.น่าน


        เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2478 หลวงปู่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น พระอุปัชฌาย์ ท่านต้องเดินทางไปทำหน้าที่บรรพชาและอุปสมบทให้ลูกหลานชาวบ้านในหลายท้องที่ ซึ่งเป็นป่าเขาลำเนาไพร ทุรกันดาร ด้วยความลำบากตรากตรำมาก


        ต่อมา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2503 ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นตรี ที่"พระครูมงคลรังสี"   และเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2523 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูชั้นโท ในราชทินนามเดิม และเป็นเจ้าคณะตำบลยม


        เนื่องจาก วัดศรีมงคล เป็นวัดร้างมาหลายสิบปี เมื่อหลวงปู่มาอยู่จำพรรษาแล้ว ท่านได้เริ่มพัฒนาวัดโดยชักชวนชาวบ้านบูรณะซ่อมแซม และสร้างกุฏิ วิหาร อุโบสถ ฯลฯ จนวัดมีความสวยงามและเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้น


หลวงปู่ได้มรณภาพด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2532 เวลา 01.30 น. สิริรวมอายุ 88 ปี พรรษา 67

เหรียญครูบาก๋ง รุ่นแรก ออกวัดต้นฮ่าง อ.ท่าวังผา ปี 2514
เหรียญครูบาก๋ง รุ่นแรก ออกวัดต้นฮ่าง อ.ท่าวังผา ปี 2514

        การจัดสร้างวัตถุมงคล เหรียญครูบาก๋ง รุ่นแรก ออกที่วัดต้นฮ่าง อ.ท่าวังผา เมื่อปี 2514 ในงานฉลองวิหาร เป็นเหรียญเนื้อทองแดงรมดำ จำนวนสร้างไม่เกิน 1,000 เหรียญ


พิธีปลุกเสกที่วัดต้นฮ่าง โดยมี ครูบาดอนตัน ครูบาก๋ง ครูบาวงศาภิวัตร ครูบาสุเทพ วัดชนะไพรี ฯลฯ ร่วมพิธีปลุกเสก (เหรียญรุ่นนี้ตอนที่ ครูบาก๋ง ได้ไปร่วมปลุกเสก เหรียญครูบาดอนตัน รุ่นแรก ก็ได้นำเหรียญรุ่นนี้ไปเข้าพิธีด้วย)       


        นอกจากนี้ยังมี พระเนื้อผง ปี 2514, รูปหล่อโบราณปี 2515, เหรียญวัดศรีมงคล ปี 2515, เหรียญระฆัง รุ่นธนูไฟ ปี 2518, ผ้ายันต์อิติปิโส 108 ปี 2518, เหรียญครูบาก๋ง หลังเจ้าหลวงภูคา ปี 2526 เนื้อทองแดงรมดำ และกะไหล่ทอง, เหรียญเจ้าหลวงภูคา รุ่นแรก ปี 2528 โดยมี ครูบาก๋ง เป็นผู้ปลุกเสก รวมทั้งพระผงและเหรียญอีก 3-4 รุ่น  สำหรับเครื่องรางที่ท่านทำไว้ ที่เด่นๆ คือ ยันต์หนีบ  ยันต์ 108 ผ้ายันต์ดาบหลี๋กั๋นจัย


center
รูปเหมือนโบราณ ครูบาก๋ง วัดศรีมงคล
        วัตถุมงคลของท่านโดดเด่นทางด้านป้องกันคุ้มภัย แคล้วคลาดปลอดภัย คงกระพัน และเมตตามหานิยม ตามแบบอย่างของพระคณาจารย์ล้านนาทั่วไป คำว่า "หลวงปู่ครูบาก๋ง" เป็นการเรียกชื่อหลวงปู่ ตามชื่อหมู่บ้าน "ก๋ง" ที่ชาวล้านนาเมืองน่าน นิยมเรียกกัน
center
ผ้ายันต์อิติปิโส 108 ครูบาก๋ง วัดศรีมงคล
        (ขอขอบคุณ ภาพและข้อมูลจาก เพจท่องเที่ยวเมืองน่าน, น่านมีดีกว่าที่คุณคิด, คุณวังผาwww.pralanna.com และ คุณศราพงค์ วงค์น้ำ) ----------------------------------