พระอาจารย์สายวัดเขาอ้อ จังหวัดพัทลุง

28 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 91371 ครั้ง

สวัสดีครับ ท่านที่รักและชื่นชอบพระเครื่องพระบูชาทุกท่าน


วันนี้เราจะมาคุยกันถึงพระเกจิอาจารย์ทางสายวัดเขาอ้อ จังหวัดพัทลุง ซึ่งวัดนี้มีชื่อเสียงในความเข้มขลังทางวิทยาคมสูงมาก วัดนี้มีหลักฐานเชื่อได้ว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศฯ (พ.ศ.2275-2301) แห่งกรุงศรีอยุธยา ในสมัยโบราณผู้คนในหัวเมืองภาคใต้นิยมส่งบุตรหลานไปเล่าเรียนวิชาที่สำนักเขาอ้อ จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วภาคใต้ คัมภีร์เวทวิทยาคมเขาอ้อมีอยู่มากมายหลายสาขา แม้คัมภีร์แพทย์โบราณก็มีอยู่อย่างพร้อมมูล ศิษย์สำนักเขาอ้อมักจะต้องผ่านกรรมวิธีสำคัญของสำนักมาโดยครบถ้วน เช่น พิธีแช่ว่านยาให้มีความขลังอยู่ยงคงกระพัน พิธีหุงข้าวเหนียวดำ กินเหนียวกินมัน พิธีเสกว่านให้กินเพื่อความคงกระพันชาตรี มหาอุดพระ


อาจารย์ยุคเก่าของวัดเขาอ้อที่พอสืบทราบได้ ก็คือ พระครูสังฆวิจารณฉัตรทันต์บรรพต หรือ พระอาจารย์ทองเฒ่า ซึ่งชาวบ้านเรียกขานท่านด้วยความเคารพว่า “พ่อท่านเขาอ้อ” ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เรืองเวทย์วิทยาคมสูงมากเป็นที่เคารพนับถืออย่างกว้างขวาง


center

ศิษย์สำคัญของพระอาจารย์ทองเฒ่า อาทิเช่น


พระอาจารย์ปาน ปาลธัมโม

center

พระอาจารย์เอียด หรือท่านพระครูสิทธิยาภิรัต

center

พระอาจารย์ดิษฐ์ ติสสโร

center

พระอาจารย์นำ ชินวโร (แก้วจันทร์)

center

พระอาจารย์คง วัดบ้านสวน

center

พระครูกาชาด

center

พระอาจารย์ศรีเงิน

center

พระอาจารย์เอียด อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนศาลา ผู้สร้างพระปิดตาซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “พระปิดตามหายันต์เขาอ้อ” พระอาจารย์เอียด ท่านเกิดเมื่อ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2425 เมื่อตอนเด็ก บิดา-มารดา ได้พาไปฝากเรียนหนังสือกับพระอาจารย์ทองเฒ่าที่วัดเขาอ้อ ต่อมาท่านก็ได้อุปสมบทในปี พ.ศ. 2447 แล้วศึกษาวิทยาคม ต่าง ๆ จากสำนักเขาอ้อกับพระอาจารย์ทองเฒ่า ตลอดจนฝึกฝนนั่งสมาธิ วิปัสสนากรรมฐานจนสำเร็จและช่ำชอง ดังนั้นท่านจึงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการช่วยเหลือพระอาจารย์ทองเฒ่าในกิจการด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้านพิธีกรรม อาทิการปลุกเสกวัตถุมงคล พิธีกินเหนียวกินมัน การอาบว่าน ซึ่งพระอาจารย์เอียดสามารถทำได้เป็นอย่างดี ต่อมา พระอาจารย์เกลี้ยงเจ้าอาวาสวัดดอนศาลา มรณภาพลง ชาวบ้านในละแวกวัดจึงไปขอนิมนต์พระอาจารย์เอียด จากพระอาจารย์ทองเฒ่า ให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดดอนศาลาที่ว่างอยู่ เดิมที พระอาจารย์ทองเฒ่าตั้งใจจะให้พระอาจารย์เอียดสืบต่อตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดเขาอ้อจากท่าน แต่เมื่อศรัทธาของชาวบ้านต้องการอย่างนั้น ท่านจึงมอบหน้าที่เจ้าอาวาสวัดดอนศาลาให้แก่พระอาจารย์เอียด ก่อนเดินทางไปวัดดอนศาลาพระอาจารย์ทองเฒ่าได้มอบประคำประจำตัวท่านให้แก่พระอาจารย์เอียดด้วย


เมื่อพระอาจารย์เอียดได้มาครองวัดดอนศาลา แล้ว ท่านก็ได้พัฒนาวัดให้มีความเจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด อีกทั้งได้รับความเคารพเลื่อมใสจากชาวบ้านเป็นอย่างมาก ผู้เฒ่าผู้แก่และศิษย์สายเขาอ้อรู้จักกันเป็นอย่างดี ต่อมาท่านอาจารย์เอียดได้สร้างพระปิดตาเขาอ้อขึ้นที่วัดดอนศาลา ในปี พ.ศ. 2483 โดยปั้นหุ่นเทียนแล้วถอดพิมพ์เทหล่อตามพิธีกรรมแบบโบราณ ด้วยตะกั่วผสมดีบุกและเงินยวง พระอาจารย์เอียดท่านจะนำแผ่นโลหะต่าง ๆ ที่จะนำมาสร้างพระปิดตามาลงอักขระเลขยันต์ตามสูตรสำนักเขาอ้อบนแผ่นโลหะก่อน นำไปเทหล่อ คนสมัยก่อนจึงเรียกนามพระปิดตารุ่นนี้ว่า “พระปิดตามหายันต์” หลังจากที่ชาวบ้านและคณะศิษย์ช่วยกันเทหล่อแล้ว ได้พระปิดตาประมาณ 1,000 องค์ จากนั้นพระอาจารย์เอียดก็ได้รวบรวมนำไปทำพิธีปลุกเสกที่วัดเขาอ้อ โดยอาราธนาและเชิญศิษย์สำนักเขาอ้อทั้งหลายที่เข้มขลังทางด้านวิทยาคมมาร่วม จิตปลุกเสก โดยมีพระอาจารย์เอียดเป็นประธานในพิธี พิธีปลุกเสกนี้ทำกันทุกวันเป็นเวลาครึ่งเดือน หลังจากนั้นจึงได้นำพระมาออกแจกจ่ายชาวบ้านและทหารหาญที่จะเดินทางไปร่วม สงครามอินโดจีน


ผมก็ได้บอกเล่าถึงสำนักเขาอ้อและพระอาจารย์เอียดมาพอสมควร พร้อมทั้งกล่าวถึงพระปิดตามหายันต์ของวัดเขาอ้อมาแล้ว ก็ขอนำรูปพระปิดตาที่สร้างในปี พ.ศ. 2483 มาให้ชมกันด้วยครับ


center
center

สำนักวัดเขาอ้อ เมืองพัทลุงนั้นมีพระอาจารย์ที่เข้มขลังสืบทอดวิชาต่อ ๆ กันมาโดยตลอด เมื่อวันก่อนผมได้พูดถึงพระปิดตาเขาอ้อของท่านอาจารย์เอียดไปแล้ว จึงขอนำเรื่องของพระอาจารย์ปาน และพระปิดตาของท่านมาเล่าสู่กันฟังอีกนะครับ


พระอาจารย์ปาน ท่านเป็นลูกศิษย์ที่เรียนวิชาสายเขาอ้อรุ่นหลังพระอาจารย์เอียด และพระอาจารย์นำ ท่านได้เรียนวิชากับพระอาจารย์ทองเฒ่าไว้มากทีเดียว พิธีกรรมที่สำคัญ ๆ ของสำนักวัดเขาอ้ออย่างเช่น พิธีอาบว่านแช่ยา พิธีป้อนน้ำมันงาหรือพิธีหุงข้าวเหนียวดำ ซึ่งจัดขึ้นในสมัยพระอาจารย์ทองเฒ่านั้น ก็มีพระอาจารย์ปานคอยช่วยเหลือในการประกอบพิธีด้วยทุกครั้ง แล้วหลังจากที่พระอาจารย์ทองเฒ่ามรณภาพลง พระอาจารย์ปาลท่านก็ได้เป็นเจ้าอาวาสสืบแทน


พระอาจารย์ปาน นอกจากว่าท่านจะมีวิชาความรู้ความเชี่ยวชาญในวิทยาคมของสายวัดเขาอ้อแล้ว พลังจิตของท่านกล้าแข็งมาก แววตาเด็ดเดี่ยวเข้มแข็ง สามารถกำหนดจิตให้เป็นสมาธิด้วยความรวดเร็วภายในอึดใจเดียว ที่กุฏิของท่านก่อนที่จะขึ้นกุฏิจะมีอ่างน้ำล้างเท้า และมีผ้าเช็ดเท้าเก่าอยู่ผืนหนึ่งที่เอาไว้เช็ดเท้าก่อนขึ้นกุฏิ ท่าเคยฉีกผ้าเช็ดเท้านั้นมาริ้วหนึ่ง แล้วให้ลูกศิษย์นำไปลองเผาดู พอจุดไฟแช็คและเผาอยู่นานจนร้อนมือ แต่ผ้าเช็ดเท้าหาได้ไหม้ไฟไม่ ยังความอัศจรรย์แก่ลูกศิษย์มาก และครั้งหนึ่งมีคนมาลองดี ท่านก็เอาผ้าจีวรของท่านไปแขวนไว้ที่ราวตากผ้า แล้วให้คน ๆ นั้นทดลองยิงดู ปรากฏว่ายิงจนหมดโม่ แต่ลูกปืนไม่ถูกผ้าจีวรของท่านเลย ลูกปืนตกอยู่ที่หน้าผ้าจีวรของท่านทุกนัด ในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น หากวัดต่าง ๆ ที่อยู่ในเครือข่ายของสำนักเขาอ้อ จัดพิธีกรรมคราวใด ก็จะต้องนิมนต์ท่านอาจารย์ปาลไปร่วมพิธีทุกครั้ง


วัตถุมงคลที่พระอาจารย์ปาน สร้างไว้มีอยู่ หลายอย่าง เช่น ตะกรุด ซึ่งมีชาวบ้านมาขอให้ท่านทำให้เสมอ ๆ ส่วนมากจะเด่นทางด้านคงกระพันชาตรี แต่ท่านมักจะพิจารณาทำให้เป็นราย ๆ ไป และกำชับเสมอว่าคนที่เอาตะกรุดของท่านไปห้ามมิให้ประพฤติผิดลูกเมียชาวบ้าน เป็นเด็ดขาด ส่วนพระปิดตาของท่านนั้น เริ่มสร้างตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา การสร้างพระปิดตาของพระอาจารย์ปาน ก็เหมือนกับการสร้างพระปิดตาของพระอาจารย์ทองเฒ่า และพระอาจารย์เอียด คือ เมื่อมีเวลาว่างและมีวัสดุพร้อม ท่านก็จะสร้างขึ้นทีละไม่มากนัก แล้วปลุกเสกแจกชาวบ้านไปเรื่อย ๆ พอหมดแล้วมีเวลาว่างท่านก็จะสร้างขึ้นใหม่ พระปิดตาของพระอาจารย์ปาลนั้นท่านจะปลุกเสกเดี่ยว และการที่ท่านสร้างมาเรื่อย ๆ นี่เองจึงทำให้มีพระพิมพ์ต่าง ๆ อยู่หลายพิมพ์ แต่เนื้อหาและเอกลักษณ์ของพิมพ์ทรงก็บ่งบอกได้ว่าเป็นพระปิดตาสายเขาอ้อ พระปิดตาพระอาจารย์ปาลสามารถแยกแยะออกจากพระปิดตาของพระอาจารย์ทองเฒ่า และพระอาจารย์เอียดได้คือ พระปิดตาของพระอาจารย์ปาลท่านจะมีพิมพ์ทรงป้อม ๆ กว่าและเนื้อโลหะมักจะออกไปทางเนื้อขันลงหิน และทองผสม พุทธคุณเน้นหนักไปทางด้านอยู่ยงคงกระพัน และแคล้วคลาดครับ


center
center

เรียบเรียงโดย วัธนชัย มุตตามระ


ขอขอบคุณหนังสือพระเครื่องล้ำค่าเมื่องใต้เอื้อเพื้อภาพ