ตำนานเกจิแดนสยาม ตอน พระครูศีลาภิรมย์

28 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 7108 ครั้ง

พระครูศีลาภิรมย์ (หลวงพ่อท้วม ธมฺมธโร) วัดบางขวาง อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2403 ที่บ้านบางกระบือ ตำบลเสาธงหิน อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี โยมบิดาชื่อเนียม โยมมารดาชื่อบุญ เมื่อมีวัยอันสมควร โยมบิดามารดาจึงพาไปฝากเรียนหนังสือที่วัดโคก (วัดคงคา) ในคลองบางใหญ่ ได้เรียนอยู่กับพระอาจารย์ขำ พออ่านออกเขียนได้ก็กลับมาช่วยบิดามารดาทำสวนที่ภูมิลำเนา ท่านมีนิสัยติดไปทางนักเลง จนมีชื่อดังในยุคนั้น บิดามารดาเห็นว่าจะไปกันใหญ่แน่ พออายุได้ครบบวช ซึ่งขณะนั้นบิดาได้เสียชีวิตไปแล้ว เหลือแต่มารดาได้นำท่านไปอุปสมบทที่วัดคงคา ปรากฎว่าในเวลานำนาคขึ้นคานหามแห่รอบโบสถ์นั้น นาคท้วมได้ซ่อนดาบไว้ใต้คานหามเป็นการเตรียมพร้อม เนื่องจากวันที่ท่านบวชได้มีข่าวว่า พวกนักเลงที่เคยเป็นศัตรูกันมาก่อนจะมาก่อกวน แต่เหตุการณ์เป็นที่น่าอัศจรรย์ คนพวกนั้นยกพวกมาจริงแต่พอเห็นนาคท้วมก็เกิดความศรัทธาเลื่อมใส ด้วยเห็นว่านาคท้วมละนิสัยได้จริงก็เลยของอโหสิกรรม ไม่จองเวรต่อกัน ด้วยบุญกุศลท่านก็ได้บวชสมประสงค์


พระอุปัชฌาย์ของท่าน คือ ท่านพระครูนนทปรีชา (รอด) ประวัติของท่านเป็นเสือเก่า เจ้าอธิการชื่น วัดบางขวาง ซึ่งเป็นญาติทางบิดาเป็นพระกรรมวาจาจารย์ กับพระอาจารย์เกิด วัดคงคา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ บวชแบบมหานิกาย เมื่อบวชแล้วได้ 3 พรรษา


ในเวลานั้น เจ้าอธิการชื่น วัดบางขวาง ได้ทำการแปลงเป็นธรรมยุกต์แล้ว ได้ชวนท่านให้มาอยู่จำพรรษาที่วัดบางขวาง มาเรียนธรรมวินัย อยู่ได้ 4-5 เดือน จึงแปลงเป็นธรรมยุกต์ โดยมีพระครูธรรมสารวิจิตร (อ่อน) วัดมัชณันติการาม (วัดน้อย บางเขน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูอิ่ม วัดเขมาภิรตาราม กับเจ้าอธิการชื่น วัดบางขวางเป็นพระคู่สวด ได้รับฉายาว่า ธมฺมธโร ท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัยเรียนภาษาบาลีมูลกัจจายน์ไวยากรณ์จนแปลหนังสือได้พอสมควร


ต่อมาเมื่อเจ้าอธิการชื่น อาพาธ และมรณภาพลงในปี พ.ศ.2435 ทางการคณะสงฆ์ก็แต่งตั้งให้ท่านเป็นเจ้าอาวาสต่อมา ท่านก็ได้พัฒนาวัดให้รุ่งเรือง พอมีเวลาว่างท่านก็ศึกษาวิปัสสนาธุระ กับหลวงพ่ออินทร์เทวดา วัดบางไทรม้า พระอาจารย์ชื่อดังในยุคนั้น ต่อมาท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ก็มีคนมาขอบวชกับท่านเป็นจำนวนมาก


หลวงพ่อท้วมท่านเป็นพระสงฆ์ที่เคร่งครัดในพระวินัย มีเมตตาจิต ชาวบ้านจึงเคารพเลื่อมใสท่านมาก ท่านได้สร้างโรงเรียนพระภิกษุ สามเณร และโรงเรียนให้แก่เด็กชาวบ้าน สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์) สนิทชอบพอกับหลวงพ่อท้วมมาก และอนุญาตให้หลวงพ่อท้วมนำตำรับตำราที่วัดบวรฯมี ให้เอามาสอนได้ทันที หลวงพ่อท้วมท่านได้จัดหาครูจากทางกทม.ไปสอนที่วัดบางขวาง และออกทุนทรัพย์ส่วนตัวของท่านเพื่อพัฒนาการศึกษาเสมอมา


วัดบางขวางตั้งอยู่ด้านหน้าคุกบางขวาง ทางเรือนจำได้ส่งนักโทษมาช่วยพัฒนาวัดบางขวางเป็นประจำ มีอยู่ครั้งหนึ่งนักโทษเกิดคิดจะหนี ทั้งๆที่ประตูวัดก็เปิดอยู่ทั้ง 4 ด้าน แต่นักโทษเหล่านั้นหาทางออกไม่ได้ เดินวกวนอยู่อย่างนั้น เมื่อหลวงพ่อท้วมเดินมา นักโทษเหล่านั้นขาอ่อนก้าวขาไม่ออกนั่งลงกราบท่าน หลวงพ่อท้วมท้วมท่านมีจิตแรงกล้า ใครคิดอะไรท่านรู้หมด


ในสมัยก่อนงานใหญ่ๆแถวเมืองนนท์ ถ้านิมนต์หลวงพ่อไปนั่งแล้ว รับรองงานเรียบร้อย ไม่มีใครกล้าตีกัน สมัยนั้นเมืองนนท์มีงานวัดก็มักจะมีนักเลงหัวไม้นัดยกพวกตีกันประจำ แต่ถ้างานไหนหลวงพ่อท้วมไปก็ไม่มีใครกล้าที่จะมีเรื่องกันเลย


ในปี พ.ศ. 2475 หลวงพ่อได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูศีลาภิรมย์ ตอนนั้นท่านอายุได้ 72 ปี ลูกศิษย์ และชาวบ้านได้จัดงานฉลองอายุให้ท่าน และได้ขออนุญาตออกเหรียญรูปครึ่งองค์ เป็นเหรียญรูปอาร์ม ด้านหน้าระบุ พ.ศ.2403-2475 ด้านหลังเป็นยันต์รูปห้าเหลี่ยม เหรียญนี้แจกให้แก่ศิษย์ และผู้เลื่อมใสที่มาในงาน เหรียญนี้มีประสบการณ์ทางด้านแคล้วคลาดเด่นมาก อีกทั้งด้านเมตตามหานิยมด้วย ในด้านมหาอุตม์ก็มีคนโดนกันมาก ยิงไม่ออกเป็นที่โจษขานกันมาก


ต่อมาในปีที่ท่านครบ 80 ปี ก็ได้มีการจัดฉลองอายุอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้หลวงพ่อท่านแจก พระเนื้อผงรูปท่าน สีอมชมพู รูปกลมแบบเหรียญสลึง บรรจุพระเกศาของท่าน ด้านหลังมียันต์พระเจ้าห้าพระเจ้าห้าพระองค์ ปัจจุบันหาได้ยากแล้ว


center
center

เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2494 เวลา 11.45 น. หลวงพ่อได้ถามพระที่มาปฏิบัติว่ากี่โมง แล้วท่านก็ได้หลับตาแล้วหมดลมไปด้วยอาการสงบ สิริอายุได้ 91 ปี


มีผู้เฒ่าผู้แก่บอกไว้ว่า คติของหลวงพ่อ คือ “ชาติเสือไม่ต้องไปขอเนื้อใครกิน เป็นเสือต้องอยู่ป่า อย่าเป็นเสือในกรงอายเขา” นักโทษในคุกบางขวางเคารพ และยำเกรงท่านเป็นอันมาก ท่านอบรมนักโทษว่า “คนติดคุกนั้นรอวันออกเพราะมีกำหนด ถ้าประพฤติดีออกก่อนกำหนดได้ บางคนอยู่ข้างนอกก็ไม่รู้วันที่จะเข้าคุกก็มาก จุงอย่าประมาท ไม่มีใครรู้ชะตากรรม ขอให้ท่านทั้งหลายอย่าสิ้นหวัง ชีวิตยังยืนยาวพอจะกลับตัวได้ ต้นคดปลายตรงคนก็ยังสรรเสริญดังนี้”


ขอขอบพระคุณ ภาพจาก หนังสือ ตามรอยตำนานสุดยอดอมตะภาพถ่าย 108 พระคณาจารย์แดนสยาม จัดทำโดย คุณพยัพ คำพันธุ์ นายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องบูชาไทย