พระนางพญา วัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก
พระนางพญา หรือที่เรียกกันว่า ราชินีแห่งพระเครื่องนั้น เป็นพระเครื่องเนื้อดินที่พบในกรุเจดีย์วัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งได้รับการทะนุบำรุง และปฏิสังขรณ์โดยพระวิสุทธิกษัตริย์ พระราชธิดาในสมเด็จพระมหาจักพรรดิ และสมเด็จพระสุริโยทัย พระมเหสีในพระมหาธรรมราชา และพระชนนีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ
สำหรับ วัดนางพญานั้น สันนิษฐานว่าพระวิสุทธิกษัตริย์ได้สร้างเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาอุทิศแด่พระมารดา คือ สมเด็จพระสุริโยทัยในคราวที่สิ้นพระชนม์ในการสู้รบกับกองทัพพม่า
พระนางพญา เป็นพระพุทธประติมากรรมขนาดเล็ก พระพิมพ์เนื้อดินประทับปางมารวิชัย รูปทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่วอย่างทรงเรขาคณิต ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของพระนางพญา พระนางพญาเป็นพระเนื้อดินผสมว่าน และเกสรดอกไม้ ปรากฎแร่กรวดทราย ผสมผสานคลุกเคล้า กดเป็นองค์พระแล้วเสร็จจึงนำไปเผา จำนวนพระที่สร้าง คือ 84,000 องค์ ครบถ้วนตามจำนวนพระธรรมขันธ์ ผ่านพิธีกรรมพุทธาภิเษกเป็นอย่างดี
ในปัจจุบัน มีการจัดมาตรฐาน พระนางพญา ไว้ 7 พิมพ์ ดังนี้
- พระนางพญา พิมพ์เข่าโค้ง
- พระนางพญา พิมพ์เข่าตรง
- พระนางพญา พิมพ์เข่าตรง (มือตกเข่า)
- พระนางพญา พิมพ์อกนูนใหญ่
- พระนางพญา พิมพ์อกนูนเล็ก
- พระนางพญา พิมพ์สังฆาฏิ
- พระนางพญา พิมพ์ทรงเทวดา หรือพระนางพญา พิมพ์อกแฟบ