พระผงสุพรรณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี
พระผงสุพรรณ เป็นพระเครื่องที่พบในกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระเครื่องเนื้อดินเผา ซึ่งแสดงพุทธศิลปในสมัยอู่ทอง พระผงสุพรรณจำลองลักษณะขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในรูปแบบปางมารวิชัยบนฐานเชียงชั้นเดียว พระเกศคล้ายฝาละมี มีกระจังหน้า พระพักตร์เคร่งขรึม พระนาสิกหนาใหญ่ พระอุระหนา ส่วนพระกรทอดเรียว
จากหลักฐานแผ่นจารึกลานทองที่ค้นพบที่วัด กล่าวถึงการสร้างพระผงสุพรรณว่าสร้างโดยฤาษีผู้มีฤทธิ์ 4 ตน ในสมัยอู่ทอง มีฤาษีพิมพิลาไลย์เป็นประธาน พระผงสุพรรณเป็นพระเนื้อดิน ซึ่งเป็นเนื้อดินที่ค่อนข้างละเอียด หากเปรียบเทียบกับพระนางพญา แต่ไม่ละเอียดมากเหมือนพระรอด ถึงแม้ว่าพระผงสุพรรณเป็นพระเนื้อดิน แต่เหตุที่เรียกว่าพระผง เนื่องจากในจารึกลานทอง มีการกล่าวถึงการนำผงว่านเกสรดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์มาผสมกับมวลสาร จึงเรียกกันว่า พระผงสุพรรณ โดยมีทั้งหมด 4 สี คือ เหลือง แดง เขียว และดำ และพบทั้งหมด 3 พิมพ์ เรียกตามลักษณะพระพักตร์ และศิลปะสกุลช่างแห่งพระพุทธรูป ได้แก่
- พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ - มีพระพักตร์เหี่ยวย่นเหมือนคนแก่
- พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้ากลาง - เค้าพระพักตร์มีความเคร่งขึมลดลงเมื่อเทียบกับพิมพ์หน้าแก่
- พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าหนุ่ม - มีพระพักตร์เรียวเล็ก ปราศจากรอยเหี่ยวย่น