ตามรอย อมตะพระกรุ เมืองพิษณุโลก วัดจุฬามณี,วัดท่ามะปราง,วัดอรัญญิก

22 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 15126 ครั้ง


     สวัสดีเมืองพิษณุโลกสองแควกันอีกครา มากี่ครั้ง พิษณุโลกยังคงสวยงาม พิษณุโลกยังคงน่าหลงใหล แม่น้ำน่านที่ไหลรวมมาบรรจบกับแม่น้ำแควน้อยยังคงเต็มล้นตลิ่งเหมือนน้ำใจที่ล้นเหลือของคนที่นี่ พิษณุโลกเป็นเมืองเก่าที่มีความสำคัญในจารึกประวัติศาสตร์ จึงเป็นไม่แปลกที่เราจะเห็นวัดวาอารามและโบราณสถานอยู่ทั่วทั้งเมืองซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองในด้านการปกครองและในด้านพระพุทธศาสนาของเมืองพิษณุโลกที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล 


     การเดินทางครั้งก่อน “สมาคมฯชวนชิล” ได้พาท่านไปท่องเที่ยว สามวัด วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร,วัดนางพญา,วัดราชบูรณะ กับ หนึ่งวัง พระราชวังจันทร์ สถานที่ประสูติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกันไปแล้ว 


     สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ “สมาคมฯชวนชิล” ขอพาทุกท่านไปตามรอยตำนานอีกสามวัด  ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นสถานที่ค้นพบพระกรุอันเป็นอมตะพระล้ำค่าแห่งเมืองสยาม  “วัดจุฬามณี , วัดท่ามะปราง และ วัดอรัญญิก” 


วัดจุฬามณี


            จุดหมายแรกในวันนี้คือ “วัดจุฬามณี” วัดที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองพิษณุโลก เชื่อกันว่าเคยเป็นบริเวณที่ตั้งของเมืองพิษณุโลกเดิม สร้างขึ้นโดย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และพระองค์ได้เสด็จออกผนวช ณ วัดแห่งนี้ เป็นเวลานานถึง 8 เดือน 15 วัน พร้อมข้าราชบริพารที่ตามบวช 2,348 รูป


            เมื่อมาถึงวัดจุฬามณี ต้องมากราบสักการะ “หลวงพ่อเพชร” พระพุทธรุปหินทราย ปางขัดสมาธิเพชรบนฐานรองรับองค์ สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อครั้งทรงเสด็จออกผนวช ต่อมาเมื่อเกิดการชำรุดเสียหายตามกาลเวลา ประชาชนจึงช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์องค์หลวงพ่อขึ้นมาใหม่ ทำให้พุทธลักษณะของหลวงพ่อเพชรคล้ายศิลปะเชียงแสน และได้นำเพชรมาประดับที่พระเนตรและเม็ดพระศก ชาวบ้านจึงนิยมเรียกว่า “หลวงพ่อเพชร” แต่เพชรได้ถูกขโมยไปปัจจุบันประชาชนจึงได้ช่วยกันอนุรักษ์ไว้ดังที่เห็นในปัจจุบัน


            พระพุทธรูปสำคัญอีก 3 องค์ คือ “หลวงพ่อขาว” พระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย ศิลปะสมัยอยุธยา สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงอัญเชิญมาจากมูลดินอินทรารามในค่ายทหาร “หลวงพ่อคง”พระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย และ “หลวงพ่อดำ” พระพุทธรูปปูนปั้นเนื้อสีดำ ปางมารวิชัย ศิลปะอยุธยา ตามประวัติชาวบ้านได้อัญเชิญหลวงพ่อดำมาทางเรือจากวัดจูงนาง หลวงพ่อดำมีสภาพชำรุด ได้รับการบูรณะ โดย ครูทิว บูรณเขต


            ต้นไม้น้อยใหญ่ที่ปกคลุมอยู่รอบบริเวณวัดและการรักษาความสะอาดอย่างดีเยี่ยม ทำให้       วัดจุฬามณียังคงความสวยงามและมีโบราณสถานที่สำคัญซึ่งได้รับการอนุรักษ์ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ชม ทั้ง “พระปรางค์ขอมโบราณ” เป็นที่ประดิษฐานของ “รอยพระพุทธบาทจำลอง” และ “หลักศิลาจารึก” สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ฝังอยู่ภายในกำแพงมณฑปปัจจุบันมีตู้กระจกครอบเพื่อรักษาคงสภาพไว้


            การค้นพบพระเครื่องที่วัดจุฬามณี นั้นเป็นพระเนื้อดินทั้งหมด มีด้วยกันหลายพิมพ์ เรียกว่า “พระวัดจุฬามณี” สันนิษฐานว่าพระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยาได้บูรณะวัดจุฬามณี พร้อมกับได้สร้างพระบรรจุไว้ พระวัดจุฬามณีจัดว่าเป็นพระที่ยังพอหาได้ และราคาไม่สูงนัก ส่วนด้านพุทธคุณ เด่นทางด้านแคล้วคลาด และเมตตาสูง


วัดท่ามะปราง


            อมตะพระกรุองค์ต่อไปที่เราจะมาตามรอยกันในวันนี้คือ “พระท่ามะปราง” ซึ่งถูกค้นพบที่ “วัดท่ามะปราง” วัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของเมืองพิษณุโลก ที่ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำน่าน ปัจจุบัน  มีถนนกั้นกลาง สามารถจอดรถบริเวณหน้าวัด ชมทัศนียภาพและวิถีชีวิตของชาวเรือนแพที่แสนสงบและเรียบง่าย

      วัดท่ามะปรางแห่งนี้เป็นวัดเล็กๆ แต่ก็มีสำคัญไม่น้อยไปกว่าวัดอื่นๆของเมืองพิษณุโลก เดิมชื่อ “วัดท่าพระปรางค์” เพราะตั้งอยู่ริมน้ำและมีพระปรางค์ประดิษฐานเป็นลักษณะเด่น แต่ชาวบ้านเรียกเพี้ยนกันต่อๆมา จนกลายเป็น “วัดท่ามะปราง” อย่างในปัจจุบัน ศาสนสถานสำคัญของวัดคือ “พระอุโบสถ” และ “พระปรางค์” ซึ่งได้รับการบูรณะประดับประดาด้วยกระเบื้องเบญจรงค์ ภายในพระปรางค์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจากวัดบวรนิเวศวิหาร



          “พระท่ามะปรางค์”ถูกค้นพบที่“วัดท่ามะปราง” เป็นแห่งแรก ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของพระท่ามะปรางทั้งหมดและจัดว่ามีอายุสูงกว่าพระท่ามะปรางที่พบในเมืองอื่นๆ


            พระท่ามะปราง เมืองพิษณุโลก เป็นพระเนื้อดินและเนื้อชิน พุทธศิลปะสุโขทัยแบบวัดตะกวน พุทธลักษณะนั่งปางมารวิชัยอยู่บนฐานบัว พุทธคุณเด่นในด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี  จนได้รับฉายาว่า “เงี้ยวทิ้งปืน” พระท่ามะปรางยังถูกค้นพบอีกหลายกรุในเมืองพิษณุโลก


วัดอรัญญิก



          วัดสุดท้ายของทริปนี้คือ “วัดอรัญญิก” วัดเก่าที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยยุคปลาย สันนิษฐานว่าอยู่ในสมัยเดียวกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นวัดป่าที่จำพรรษาของพระเกจิอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน


          เอกลักษณ์ของวัดอรัญญิกแห่งนี้ คือ “เจดีย์องค์ประธานทรงลังกา” ฐานกลม มีช้างล้อมอยู่ที่ฐาน ปัจจุบันชำรุดเสียหายลงไปมาก โดยรอบพบ ซากพระอุโบสถ ใบเสมาหิน และพระพุทธรูป ที่อยู่สภาพชำรุดไม่ต่างกัน แต่โดยรวมยังคงเค้าโครงความงามที่ชวนให้จินตนาการณ์ตามว่า หากในสมัยที่ยังคงสมบูรณ์ จะสวยสง่างามมากสักเพียงไหน


ณ วัดอรัญญิกแห่งนี้ได้มีการค้นพบพระกรุ เช่นเดียวกันกับวัดเก่าอื่นๆในเมืองพิษณุโลก มีทั้งพระซุ้มอรัญญิก เนื้อตะกั่วสนิมแดง , พระซุ้มเสมาทิศ เนื้อชินเงิน , พระท่ามะปราง กรุวัดอรัญญิก,    พระนางพญา ศิลปะแบบอู่ทอง กรุวัดอรัญญิก , พระพุทธชินราช เนื้อชินเงิน กรุวัดอรัญญิก ฯลฯ


การเดินทางมา จ.พิษณุโลก ครั้งนี้ทำให้ได้รู้จักและรักที่นี่มากยิ่งขึ้น แม้ว่าแต่ละวัดแต่ละสถานที่จะมีความงดงามที่แตกต่างกัน แต่ความรู้สึกนั้นมีเพียงอย่างเดียวคือ อยากให้ทุกสถานที่ได้รับการดูแลบูรณปฏิสังขรณ์อย่างเท่าเทียมกัน เพื่ออนุรักษ์ไว้ให้เป็นสมบัติล้ำค่าของชนชาวไทยสืบต่อไป


สมาคมฯชวนชิม



            เมนูเด็ดวันนี้เป็นจานด่วนแบบง่ายๆแต่รสชาติไม่ธรรมดา ข้าวมันไก่ ร้าน ส.มหาชัย 2 ไทยกล้า ข้าวมันร้อนๆ โปะด้วย ไก่ตอนเนื้อนุ่มๆ ราดน้ำจิ้มรสเด็ดสูตรต้นตำรับของทางร้าน จัดจ้านเข้ากัน ซดน้ำซุปต้มกระดูกรสหวาน ได้ลองลิ้มชิมรสแล้วติดใจ ไม่เสียชื่อข้าวมันไก่เจ้าเก่าแก่ของเมืองพิษณุโลกเลย กดไลค์ให้ไปแบบรัวๆเลยค่ะ


ฝากไว้ซักนิดก่อนคิดเดินทาง


·       วัดจุฬามณี ต.ท่าทอง อ.เมืองพิษณุโลก ห่างจากตัวเมืองประมาณ 5 กิโลเมตร จากสถานีรถไฟมุ่งไปทางวงเวียนหอนาฬิกาออกไปทางถนนบรมไตรโลกนาถ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1063 ผ่านห้างแมคโคร พิษณุโลก วัดจุฬามณีอยู่ทางด้านขวามือ 
·       วัดท่ามะปราง ต.ในเมือง อ.เมืองพิษณุโลก ใช้เส้นทาง ถ.พระบรมไตรโลกนาถ มีที่จอดรถบริเวณหน้าวัด
·       วัดอรัญญิก ต.ในเมือง อ.เมืองพิษณุโลก อยู่บริเวณนอกกำแพงเมือง ประมาณ 1 กิโลเมตร
·       ร้าน ส.มหาชัย 2 ไทยกล้า อยู่ ถ. ราเมศวร ตรงข้าม PK คาร์แคร์ ไม่มีที่จอดรถ (จอดรถข้างทาง) เปิด 08.00-18.00 น.