ยอดนิยมจากคมเลนส์ ครั้งที่ 72 แล่ม จันท์พิศาโล

30 มกราคม 2564 ยอดผู้ชม 9745 ครั้ง






พระนางกำแพง พิมพ์ตื้น เนื้อดิน กรุวัดพิกุล จ.กำแพงเพชร ของเต้ สระบุรี(ด้านหน้า)
พระนางกำแพง พิมพ์ตื้น เนื้อดิน กรุวัดพิกุล จ.กำแพงเพชร ของเต้ สระบุรี(ด้านหลัง)


                พระนางพญา  เมืองกำแพงเพชร  หรือ  “พระนางกำแพง”  ลักษณะพิมพ์ทรงสามเหลี่ยมเหมือน  พระนางพญา  กรุวัดนางพญา    สำหรับ  พระนางกำแพง  มี 2 พิมพ์   คือ  พิมพ์ลึก และพิมพ์ตื้น   พระนางกำแพง พิมพ์ตื้น  มีความนิยมกว่าพิมพ์ลึก  สนนราคาก็สูงกว่าด้วย   พระพิมพ์นี้การกดพิมพ์ค่อนข้างตื้น เส้นสายรายละเอียดต่างๆ แบบตื้นๆ  องค์พระประธานประทับนั่ง ปางมารวิชัย สถิตอยู่บนอาสนะฐานเขียง พระพักตร์ใหญ่อ่อนช้อย  พระเศียรเป็นทรงบาตรคว่ำหน้าผากกว้าง แก้มและคางจะสอบลงมาได้รูป เป็นพระเนื้อดินผสมว่าน  มีความละเอียดนุ่ม  แบบพระซุ้มกอ  ซึ่งสร้างในยุคเดียวกัน  มี “รารัก”  สีดำ เกิดขึ้นบนผิวพระตามธรรมชาติ   และสามารถใช้เป็นจุดสำคัญในการพิจารณา พระแท้ พระปลอม ได้ด้วย  พุทธศิลป์สมัยสุโขทัย ฝีมือช่างกำแพงเพชร   นอกจากพระเนื้อดินแล้ว   ยังมีเนื้อชินเงิน  เนื้อว่าน  และเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง   ขุดพบทั้งบริเวณทุ่งเศรษฐี ฝั่งนครชุม  และฝั่งจังหวัด  อาทิ  กรุวัดบรมธาตุ, กรุวัดพิกุล, กรุอาวาสน้อย, กรุอาวาสใหญ่, กรุป่ามืด  ฯลฯ   องค์ที่นำภาพมาให้ชมนี้  คือ    พระนางกำแพง  พิมพ์ตื้น  เนื้อดิน  กรุวัดพิกุล  จ.กำแพงเพชร  เป็นพระของ   เต้ สระบุรี   (ธเนศ จันทร์ผล)  ผู้ชำนาญการพระยอดนิยมทุกประเภท  เซียนพระแถวหน้าคนหนึ่งของวงการพระเครื่องเมืองไทย 




พระนาคปรก เนื้อชินเงิน กรุวัดพระศรีฯ จ.ลพบุรี ของเลิศ สุพรรณ(ด้านหน้า)
พระนาคปรก เนื้อชินเงิน กรุวัดพระศรีฯ จ.ลพบุรี ของเลิศ สุพรรณ(ด้านหลัง)


            วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  เป็นวัดหลวงประจำ จ.ลพบุรี   สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 สมัยลพบุรี   มีสถาปัตยกรรมที่สำคัญ  คือ  พระปรางค์ ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่กึ่งกลางของวัด  พร้อมด้วยพระปรางค์ขนาดเล็กอีกหลายองค์   ต่อมา วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ได้เสื่อมโทรมลง  เนื่องจากภัยสงคราม  โบราณสถานภายในวัดต้องพังสลายไปตามกาลเวลา  ของมีค่าต่างๆ ที่บรรจุอยู่ภายในเจดีย์ได้ถูกนักแสวงหาสมบัติขุดทำลาย เพื่อหาของมีค่าไปอย่างน่าเสียดาย   อาทิ  พระบูชา และพระเครื่องที่ถูกขุดค้นนั้น มีหลายศิลปะหลายสมัย  อาทิ ทวารวดี ลพบุรี และอยุธยา......พระกรุวัดนี้มี   “พิมพ์พระนาคปรก”  มากที่สุด  ประมาณ  30  พิมพ์ แต่ละพิมพ์มีความงดงามอลังการมาก   เป็นฝีมือสกุลช่างขอม  แบบมหายาน  ซึ่งไม่มีพระกรุไหนในเมืองไทย  ที่มี พระนาคปรกสวย  และมากเหมือนกรุวัดพระศรีฯ แห่งนี้เลย (ข้อมูลจาก อ.ชาติ วิศิษฏ์สรอรรถ)------ พระนาคปรก กรุวัดพระศรีฯ จ.ลพบุรี  มีทั้งเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง  เนื้อดิน  เนื้อสัมฤทธิ์  และเนื้อชินเงิน  ซึ่งมีคราบปรอทขาววาววับคลุมทั่วองค์พระ   ที่นำภาพมาให้ชมนี้  คือ   พระนาคปรก กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี  เนื้อชินเงิน  สวยสมบูรณ์คมชัดมาก   เป็นพระของ   เลิศ สุพรรณ  นักสะสมพระกรุยอดนิยมมานานปี

 



พระปิดตาปลดหนี้ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี ปี2521 เนื้อผงเกสร หลังยันต์ “นะ” ฝังตะกรุด 2ดอก แช่น้ำมนต์ ของเบนซ์ ทวีทรัพย์(ด้านหน้า)
พระปิดตาปลดหนี้ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี ปี2521 เนื้อผงเกสร หลังยันต์ “นะ” ฝังตะกรุด 2ดอก แช่น้ำมนต์ ของเบนซ์ ทวีทรัพย์(ด้านหลัง)

 

                พระปิดตาปลดหนี้  หลวงปู่โต๊ะ  วัดประดู่ฉิมพลี  ท่าพระ  ธนบุรี  เป็นพระปิดตาพิมพ์หนึ่งที่สร้างขึ้นในปี 2521 ปลุกเสก 3 ไตรมาส  พร้อมกับพระปิดตาอีกหลายพิมพ์ อาทิ พิมพ์ใหญ่ (จัมโบ้ 2), พิมพ์กลาง  หลังยันต์ “นะ”  และหลังยันต์สุกิตติมา, พิมพ์เล็ก หลังยันต์สุกิตติมา ฯลฯ  ที่เรียกว่า พระปิดตา รุ่น “ปลดหนี้”  เพราะมีผู้นำไปใช้แล้ว ได้โชคลาภ จนสามารถปลดหนี้สินได้หมด   พระปิดตา  รุ่น  “ปลดหนี้”  มี  2  เนื้อ  คือ  เนื้อผงเกสร (มีหลังยันต์ “นะ” อย่างเดียว)  และเนื้อผงใบลาน (มีทั้งหลังยันต์ “นะ” และหลังยันต์ตรีนิสิงเห)   สำหรับ   พระปิดตา  รุ่น  “ปลดหนี้” เนื้อผงเกสร หลังยันต์ “นะ”  ฝังตะกรุด 2 ดอก สร้าง 3,000 องค์,  ตะกรุด 3 ดอก สร้าง 10 องค์  และตะกรุด 5 ดอก สร้าง 3 องค์  มีทั้งแบบแช่น้ำมนต์ และไม่แช่น้ำมนต์  สมัยก่อน  พระปิดตาปลดหนี้ เนื้อผงเกสร  หลังยันต์ “นะ”  วงการนิยมเนื้อแช่น้ำมนต์  แต่ปัจจุบันนิยมเนื้อเดิมๆ ไม่แช่น้ำมนต์…..นอกจากนี้ยังมี   พระปิดตาปลดหนี้  หลังยันต์ “นะ” เนื้อผงใบลาน  บรรจุตะกรุด  1  ดอก  สร้าง 22,040 องค์  ได้รับความนิยมรองลงมา  องค์ที่นำภาพมาให้ชมนี้   คือ    พระปิดตาปลดหนี้  เนื้อผงเกสร  หลังยันต์ “นะ” แช่น้ำมนต์   ของ   เบนซ์  ทวีทรัพย์   ร้าน อ.เกี๊ยก ทวีทรัพย์  ชมรมพระเครื่องมรดกไทย  ชั้น 3 ห้างพันธุ์ทิพย์  งามวงศ์วาน 




พระครูบาเจ้าศรีวิไชย รุ่น "สร้างทางขึ้นดอยสุเทพ" เนื้อแร่ไมก้า พิมพ์กนกนูน ของป้อม ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่(ด้านหน้า)
พระครูบาเจ้าศรีวิไชย รุ่น "สร้างทางขึ้นดอยสุเทพ" เนื้อแร่ไมก้า พิมพ์กนกนูน ของป้อม ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่(ด้านหลัง)


                พระครูบาเจ้าศรีวิไชย รุ่น "สร้างทางขึ้นดอยสุเทพ" เนื้อแร่ไมก้า   มี 2 พิมพ์  คือ  พิมพ์กนกนูน และพิมพ์กนกจม  เนื้อพระส่วนใหญ่สีเทาดำ  เข้าใจว่าเกิดจากการเผาพระใช้ไฟอ่อน  เป็นการเผาแบบง่ายๆ  ของชาวบ้าน  ไม่ได้ใช้เตาเผา  เหมือนพระทั่วๆ ไป   มาถึงวันนี้พระรุ่นนี้มีอายุกว่า 85 ปีแล้ว  มีความเก่าพอสมควร  เนื้อพระแห้งสนิท   จัดเป็นวัตถุมงคลของครูบาเจ้าศรีวิชัย  ที่มีหลักฐานเชื่อได้ว่าสร้างทันท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย  เพื่อแจกผู้ร่วมงานสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ ปี 2477 เป็นพระดีปีลึก  จนกลายเป็นพระในตำนาน  หายาก  ใครมีก็หวง พระองค์นี้  พิมพ์กนกนูน สภาพสวยแชมป์มีใบประกาศรางวัลที่ 1 หลายใบ   ของ  ป้อม ดอยสะเก็ด  จ.เชียงใหม่   นักสะสมพระเครื่องสาย จ.เชียงใหม่  โดยเฉพาะ




เหรียญแตงโม หลวงพ่อเกษม เขมโก จ.ลำปาง ปี2517 เนื้อทองแดง พิมพ์หัวหนาม ไม่มี A นิยมสุด ของซุย แม่จัน จ.เชียงราย(ด้านหน้า)
เหรียญแตงโม หลวงพ่อเกษม เขมโก จ.ลำปาง ปี2517 เนื้อทองแดง พิมพ์หัวหนาม ไม่มี A นิยมสุด ของซุย แม่จัน จ.เชียงราย(ด้านหลัง)

                เหรียญหลวงพ่อเกษม เขมโก  สุสานไตรลักษณ์  พิมพ์หัวใจ หลังแตงโม  ปี 2517  สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกในงานฉลองศาลและรูปหล่อเจ้าแม่สุชาดา  หลวงพ่อเกษม  เป็นผู้ร่างแบบพิมพ์รูปหัวใจ  แต่วงการเรียกเหรียญรุ่นนี้ว่า  “เหรียญแตงโม”  ตามที่ปรากฏรูปแตงโมด้านหลังเหรียญ  สร้างด้วยเนื้อทองคำ  107 เหรียญ,  เนื้อเงิน  1,500 เหรียญ,  เนื้อนวโลหะ  108 เหรียญ  และเนื้อทองแดง  50,000 เหรียญ   เหรียญในภาพนี้เป็นเนื้อทองแดง  พิมพ์หัวหนาม ไม่มี A  ถือเป็นพิมพ์นิยมสุด  (เนื้อนี้พิมพ์นี้มีประมาณ  1,000 เหรียญ)  ค่านิยมหลักหมื่นต้น  เป็นเหรียญของ    ซุย แม่จัน   ผู้ชำนาญพระสกุลเชียงแสนระดับแถวหน้าของวงการพระเครื่องเมืองไทย