ยอดนิยมจากคมเลนส์ / แล่ม จันท์พิศาโล ครั้งที่69

10 กันยายน 2563 ยอดผู้ชม 9178 ครั้ง


ยอดนิยมจากคมเลนส์ / แล่ม จันท์พิศาโล ครั้งที่69




พระร่วงนั่งข้างรัศมี เนื้อตะกั่วสนิมแดง วัดกลาง จ.นครปฐม ศิลปะลพบุรีล้อทวาราวดี ของ เลิศ สุพรรณ(ด้านหน้า)
พระร่วงนั่งข้างรัศมี เนื้อตะกั่วสนิมแดง วัดกลาง จ.นครปฐม ศิลปะลพบุรีล้อทวาราวดี ของ เลิศ สุพรรณ(ด้านหลัง)

        นครปฐม”  เป็นเมืองเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยทวาราวดี   ต่อมาได้ถูกทอดทิ้งร้างมานานปี  จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงโปรดฯ ให้บูรณะองค์ พระปฐมเจดีย์  ขึ้นมาใหม่  จึงทำให้เมืองนครปฐม มีความสำคัญทางพระพุทธศาสนา  มาจนถึงทุกวันนี้....พระเครื่องที่มีชื่อเสียงของ จ.นครปฐม  ที่สำคัญ  ได้แก่  พระเครื่อง วัดกลาง (วัดร้าง)  เป็นพระเครื่องหลักสำคัญของวงการพระเครื่อง  อาทิ  พระร่วงยืนประทานพร  เนื้อตะกั่วสนิมแดงพระร่วงนั่งข้างรัศมี  เนื้อตะกั่วสนิมแดง,   พระแผ่นพิมพ์ สมัยทวาราวดี,   พระแผง ศรีวิชัย  ฯลฯ  โดยมีผู้พบพระเครื่องเหล่านี้ เมื่อ พ.ศ.2495  พระร่วงยืนประทานพร  และพระร่วงนั่งข้างรัศมี  แตกกรุออกมาจำนวนน้อย  ราคาเช่าหาจึงค่อนข้างสูง....กล่าวสำหรับ  พระร่วงนั่งข้างรัศมี  องค์พระประทับนั่ง อยู่บนฐานบัว 2 ชั้น  มีปีกเป็นรัศมีอยู่ 2 ข้างองค์พระ  ศิลปะลพบุรีล้อทวาราวดี   องค์พระสูงประมาณ 3.2 ซม.  นอกจากพบที่กรุวัดกลาง แล้ว ยังพบที่กรุวัดประโทน ด้วย จำนวนเล็กน้อย เป็นพระเนื้อชินเงิน  องค์ในภาพนี้  คือ  พระร่วงนั่งข้างรัศมี เนื้อตะกั่วสนิมแดง  เป็นพระของ   เลิศ สุพรรณ   ผู้ชำนาญพระกรุยอดนิยมทุกสาย   (ขอขอบพระคุณ  ข้อมูลจากหนังสือ “อมตพระกรุ”  โดย  พิศาล เตชะวิภาค  (อ.ต้อย เมืองนนท์)  รองนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย  คนที่ 1)




พระนางพญา กรุโรงทอ จ.พิษณุโลก พิมพ์มีหู เนื้อดินเผา ของ ตั้ม นครพิงค์ จ.เชียงใหม่

            พระนางพญา กรุโรงทอ  จ.พิษณุโลก  เป็นพระเครื่องเนื้อดินเผา  สันนิษฐานว่า  สร้างขึ้นโดย  พระวิสุทธิกษัตรีย์  ผู้สร้าง พระนางพญา  กรุวัดนางพญา  และเป็นพระราชมารดาของ  สมเด็จพระนเรศวรมหาราช  ที่เรียกว่า  “กรุโรงทอ”  เนื่องจากเมื่อประมาณปี  2480  ขณะที่คนงานกำลังปรับเนินดินซากเจดีย์ และวิหารเก่า บริเวณด้านเหนือของ วัดโพธิญาณ  เพื่อสร้างโรงงานทอผ้า (ของกองทัพบก )  คนงานได้ขุดพบพระเครื่องพิมพ์ต่างๆ จำนวนมาก อาทิ พระพิมพ์นางพญา,  พระซุ้มเรือนแก้ว ว่านหน้าทอง,  พระมารวิชัยซุ้มเส้นคู่,  พระท่ามะปรางค์ ฯลฯ  พระที่ขุดพบนี้เรียกว่า  “พระกรุโรงทอ”  (ปัจจุบันโรงทอผ้าทางราชการได้ปรับแต่งเป็นสวนสาธารณะ)  เนื่องจากพื้นที่ขุดพบพระกรุนี้อยู่ในบริเวณวัดโพธิญาณ   จึงมีการเรียกพระพิมพ์เหล่านี้อีกชื่อหนึ่งว่า  “พระกรุวัดโพธิญาณ”    กล่าวเฉพาะ   พระนางพญา  กรุโรงทอ     พุทธลักษณะคล้ายกับ  พระนางพญา  กรุวัดนางพญา  คือ  พิมพ์ทรงสามเหลี่ยม  องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย  เข่าใน  มือข้างขวาทอดตรงลงมา   มือข้างซ้ายหักได้ฉาก  ผ้าสังฆาฏิปรากฏเด่นชัด  หูแบบบายศรี  ปีกกว้าง  เนื้อพระค่อนข้างหยาบ  ปรากฏเม็ดแร่ทั่วองค์พระและด้านหลัง  ด้านข้างมีรอยตอกตัด  หลังเรียบ  บางองค์มีรอยลายนิ้วมือ   องค์พระขนาดกว้างประมาณ 2.0 ซม. สูงประมาณ 2.5 ซม.  มี 2 พิมพ์ คือ  พิมพ์หู และพิมพ์ไม่มีหู ชาวพิษณุโลกสมัยก่อนรู้จัก  พระนางพญา กรุโรงทอ  กันดี  นิยมใช้คู่กับ พระนางพญา กรุวัดนางพญา  โดยเฉพาะแม่บ้านทั้งหลาย  นิยมแขวน  พระนางพญา กรุโรงทอ  กันมาก ด้วยเหตุผลว่า แขวนแล้วดี  มีโชคลาภ มีความอุ่นใจมาก  พระกรุนี้มีหลายสี  อาทิ สีพิกุล สีแดง สีแดงคล้ำ สีเขียว และสีดำ เนื้อพระมีทั้งแบบเนื้อดินนุ่ม  เนื้อดินแกร่ง และเนื้อผงใบลานเผาสีดำ  ที่นำภาพมาให้ชมนี้  คือ  พระนางพญา  กรุโรงทอ   พิมพ์มีหู   สวยสมบูรณ์คมชัดมาก  จนเห็นรายละเอียดบนใบหน้าอย่างครบถ้วน  พิมพ์มีหู เป็นพิมพ์นิยม  ราคาสูงกว่าพิมพ์ไม่มีหู  องค์นี้สภาพเดิมๆ  สนนราคาหลักแสนกลาง  เป็นพระของ   ตั้ม นครพิงค์ (อนุชา เตจ๊ะน้อย)   คนหนุ่มชาวเชียงใหม่ สายตาแม่นพระกรุพระยอดนิยมทุกสาย 







พระชัยวัฒน์ พิมพ์ชะลูด หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม ของ ต้น ท่าพระจันทร์(ด้านหน้า)
พระชัยวัฒน์ พิมพ์ชะลูด หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม ของ ต้น ท่าพระจันทร์(ด้านหลัง)
พระชัยวัฒน์ พิมพ์ชะลูด หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม ของ ต้น ท่าพระจันทร์(ด้านล่าง)

 

       หลวงปู่บุญ (พระพุทธวิถีนายก) วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม  เป็นพระอริยสงฆ์ผู้มีความรู้ความชำนาญในด้านพุทธาคมและไสยศาสตร์อย่างแตกฉาน  วัตถุมงคลที่ท่านสร้างจึงมีความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ทุกรุ่น  และมีประสบการณ์ในทุกด้าน  ท่านมีความสนิทสนมกับ  สมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศนฯ  สมัยดำรงสมณศักดิ์ที่  "พระศรีสมโพธิ์”  โดยเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เสด็จไปหา หลวงปู่บุญ ที่วัดกลางบางแก้วบ่อยๆ  ในการสร้าง  พระชัยวัฒน์  เมื่อ พ.ศ.2442  เจ้าประคุณสมเด็จฯ  ได้ไปร่วมงานด้วย... พระชัยวัฒน์ หลวงปู่บุญ  สร้างโดยวิธีเททองหล่อเป็นช่อ แบบโบราณ  โดยนำรูปแบบพิมพ์ทรงมาจาก  พระชัยวัฒน์ ท่านเจ้ามา วัดสามปลื้ม รุ่น ร.ศ.118 ------ กล่าวสำหรับ  พระชัยวัฒน์ หลวงปู่บุญ  มีหลายพิมพ์  อาทิ  พิมพ์ใหญ่ ร.ศ.118,  พิมพ์ชะลูดพิมพ์ขัดสมาธิเพชร บัวชั้นเดียว,  พิมพ์ป้อมใหญ่,  พิมพ์ป้อมเล็ก (คอหนอก) ฯลฯ  องค์ในภาพนี้  คือ  พิมพ์ชะลูด  ถือเป็นพิมพ์นิยม  สภาพเดิมๆ  สวยสมบูรณ์มาก  คมชัดทุกมิติ  มีหน้าตาชัดเจน  จมูกโด่ง  เส้นสายในพิมพ์ติดครบถ้วน  เนื้อโลหะที่ไม่ผ่านการใช้มาก่อนเลย  สนนราคากว่า 1 แสนบาท   เป็นพระของ  ต้น  ท่าพระจันทร์  (ณัฐพงษ์ ชวาลรัตนสกุล)  สุดยอด แฟนพันธุ์แท้ พระเหรียญ ปี 2551





พระปิดตา กรมหลวงชุมพรฯ พิมพ์ 5 เหลี่ยม เนื้อชินตะกั่ว ของ ศาล มรดกไทย(ด้านหน้า)
พระปิดตา กรมหลวงชุมพรฯ พิมพ์ 5 เหลี่ยม เนื้อชินตะกั่ว ของ ศาล มรดกไทย(ด้านหลัง)


            นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์  (ประสูติ 19 ธันวาคม 2423  สิ้นพระชนม์ 19 พฤษภาคม 2466)   เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 28 ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   พระนามเดิม  พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์  ทรงเป็นต้นราชสกุล "อาภากร"   ได้รับการเชิดชูในหมู่ทหารเรือเรียกขานพระองค์ว่า  "เสด็จเตี่ย"  หรือ  "หมอพร" และ "องค์บิดาของทหารเรือไทย" .....พระองค์มีความสนพระทัยในเรื่องของไสยศาสตร์ เป็นพิเศษ  ถึงกับไปฝากพระองค์เป็นศิษย์ของพระเกจิอาจารย์หลายท่าน  โดยเฉพาะ  หลวงปู่ศุข  วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท  ทรงให้ความเคารพศรัทธาเลื่อมใสมาก  ทุกปีเมื่อทรงจัด  “พิธีไหว้ครู”  จะนิมนต์  หลวงปู่ศุข  มาร่วมพิธีทุกครั้ง  หลังจากเสร็จพิธีแล้ว  หลวงปู่ศุข  จะแจกพระปิดตาให้ผู้ร่วมงานทุกคน  ที่เรียกกันว่า  พระปิดตา พิมพ์กรมหลวงชุมพรฯ  หรือที่เรียกว่า  “พระปิดตากรมหลวงชุมพรฯ”   มี 2 พิมพ์  2 เนื้อ คือ   1. พระปิดตาพิมพ์สามเหลี่ยมลบมุม  เนื้อผงคลุกรัก  ปิดทองคำเปลว   2. พระปิดตาพิมพ์ 5 เหลี่ยม  เนื้อชินตะกั่ว  พระปิดตาทั้ง  2 พิมพ์นี้  เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ  ทรงสร้างขึ้นในวังนางเลิ้ง  กทม. และหลวงปู่ศุข เป็นผู้ปลุกเสก   องค์ที่นำภาพมาให้ชมนี้  คือ   พระปิดตาพิมพ์ 5 เหลี่ยม  เนื้อชินตะกั่ว  ของ   ศาล มรดกไทย   เพิ่งได้รับแบ่งมาจากพี่ท่านหนึ่ง  เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา  พร้อมกับ  พระปิดตาพิมพ์ชะลูด หลวงปู่ทับ วัดอนงคาราม เนื้อเมฆสิทธิ์  ด้านหลังมีจารยันต์อักขระตัว “อิ”  เหมือนกับ  พระปิดตากรมหลวงฯ  ที่ยันต์ด้านหลังจารตัว “อิ”  ตัวเดียวกัน  ต่างกันที่พระเกจิอาจารย์คนละท่าน  ทำเอาเจ้าตัวปลื้มใจที่สุด...บุญนำพา แท้ๆ




พระปิดตาฐานเขียง พ่อท่านเจ็ก วัดเขาแดงตะวันตก จ.พัทลุง เนื้อสำริด ของ เบียร์ พัทลุง(ด้านหน้า)
พระปิดตาฐานเขียง พ่อท่านเจ็ก วัดเขาแดงตะวันตก จ.พัทลุง เนื้อสำริด ของ เบียร์ พัทลุง(ด้านหลัง)


            พระเกจิอาจารย์ภาคใต้ นิยมสร้าง  “พระปิดตา”  กันมาก  แต่ละท่านสร้างพระปิดตาที่มีพิมพ์ทรงไม่เหมือนใคร   อย่างเช่นที่เห็นนี้  คือ  พระปิดตาฐานเขียง  พ่อท่านเจ็ก  วัดเขาแดงตะวันตก  จ.พัทลุง   เป็นพระปิดตาเนื้อสำริด  สวยลึก  นิ้วเป็นร่อง  ผิวดี  ยันต์หลังชัดเจนมาก เป็นผลงานทำด้วยมือ โดยพ่อท่านทุกขั้นตอน  ตั้งแต่การออกแบบพิมพ์ทรง สร้างแม่พิมพ์  สร้างเตาหลอม  หาชนวนมวลสาร  หลอมโลหะ  เทหล่อ  แต่งตะไบองค์พระ  ด้วยตัวท่านเองทั้งหมด  ที่พิเศษ คือ  พระแต่ละรุ่นจะไม่ซ้ำแบบกันเลย  ในการสร้างพระเครื่องของ  พ่อท่านเจ็ก  ทุกครั้ง ท่านจะหล่อ  “ฤาษีบรมครู”  ก่อนที่จะสร้างพระพิมพ์อื่นๆ  เพื่อเป็นการบูชาครู  และท่านจะตั้ง “ฤาษี” ประนมมือองค์แรก ที่ท่านหล่อไว้ที่หน้าเตาหลอม  ตลอดเวลาที่ท่านหล่อพระ....เมื่อหล่อเป็นองค์พระเสร็จแล้ว  ท่านจะแต่งด้วยตะไบองค์พระให้เรียบร้อย  แล้วนิมนต์สหธรรมิกของท่านมาร่วมพิธีปลุกเสกด้วย  ได้แก่  หลวงพ่อตุด วัดคูหาสวรรค์,  หลวงพ่อดิษฐ์ วัดปากสระ,  หลวงพ่อพลับ วัดชายคลอง,  หลวงพ่อเมฆ วัดประจิมทิศาราม,  หลวงพ่อศรีแก้ว วัดไทรใหญ่,  หลวงพ่อศรีนวล วัดบ้านด่าน  และตัวท่านเอง  เสร็จพิธีปลุกเสกหมู่แล้ว  ท่านจะปลุกเดี่ยวอีกครั้งหนึ่ง  ก่อนจะแจกจ่ายให้แก่ลูกศิษย์ด้วยตัวท่านเอง   พระปิดตาของท่านจึงมีอิทธิคุณรอบด้าน ใช้แล้วไม่มีเสื่อม  เพราะท่านได้ปลุกเสกกำกับไว้หมดแล้ว  ใครได้รับไป

ก็จะมีแต่ความปลาบปลื้มพอใจสุดๆ  องค์ที่นำมาให้ชมนี้  คือ  พระปิดตาฐานเขียง  พ่อท่านเจ็ก  เนื้อสำริด  ของ  เบียร์ พัทลุง  คนรุ่นใหม่ผู้สนใจพระบ้านเกิดอย่างจริงจัง 

  (ขอขอบพระคุณ ข้อมูลจาก  จอมเวชยันต์ ยอดแก้ว /  จอม ปากพนัง)