ยอดนิยมจากคมเลนส์ / แล่ม จันท์พิศาโล ครั้งที่ 68

29 กรกฎาคม 2563 ยอดผู้ชม 7451 ครั้ง


ยอดนิยมจากคมเลนส์ / แล่ม จันท์พิศาโล ครั้งที่ 68




พระสมเด็จอรหัง พิมพ์ฐานคู่ หลังโต๊ะกัง เนื้อแดง สมเด็จพระสังฆราช(สุก ไก่เถื่อน) ของ นพ.มาณพ โกวิทยา
พระสมเด็จอรหัง พิมพ์ฐานคู่ หลังโต๊ะกัง เนื้อแดง สมเด็จพระสังฆราช(สุก ไก่เถื่อน) ของ นพ.มาณพ โกวิทยา

        สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน)  เป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 4  ในราชวงศ์จักรี   และเป็นพระอาจารย์ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) รวมทั้งในหลวง ร.2,  ร.3  และ ร.4  ท่านเป็นชาวกรุงเก่า  เดิมชื่อ “สุก” ประสูติเมื่อ พ.ศ.2276 สมัยอยุธยา  ต่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าหอย  ในสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ร.1) โปรดให้อาราธนามาอยู่ที่วัดราชสิทธาราม  (วัดพลับ)  กรุงธนบุรี   ขณะที่อยู่วัดพลับ พ.ศ.2360  ท่านได้สร้างพระเครื่องพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟัก เรียกว่า  “พระสมเด็จอรหัง”  นับเป็นต้นกำเนิดของ  “พระเครื่องตระกูลสมเด็จ”  เป็นครั้งแรกของเมืองไทย    “พระสมเด็จอรหัง”  เรียกตามที่ปรากฏเป็นอักขระขอม  ด้านหลังองค์พระที่จารไว้ว่า “อรหัง”  พระเครื่องรุ่นนี้มี 3 พิมพ์ คือ  พิมพ์ฐาน 3 ชั้น, พิมพ์ฐานคู่  และพิมพ์เกศอุ   นอกจากนี้ยังมี   “พระสมเด็จอรหัง”  พิมพ์เล็ก อีก 2 พิมพ์ คือ  พิมพ์ 3 ชั้นมีประภามณฑล และพิมพ์ 3 ชั้นไม่มีประภามณฑล    พระเครื่องทั้งหมดนี้ไม่ได้บรรจุในกรุเจดีย์ วัดพลับ   ต่อมาเมื่อพ.ศ.2363 ท่านได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น  “สมเด็จพระสังฆราช”  โปรดเกล้าฯ ให้ท่านไปอยู่ที่  วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ท่าพระจันทร์   ท่านจึงได้นำ  “พระสมเด็จอรหัง”  จากวัดพลับไปบรรจุในองค์พระเจดีย์ วัดมหาธาตุ....ที่นำภาพมาให้ชมนี้  คือ   พระสมเด็จอรหัง  พิมพ์ฐานคู่  หลังโต๊ะกัง เนื้อแดง   คำว่า  “หลังโต๊ะกัง”  หมายถึงด้านหลังองค์พระมีอักขระขอม คำว่า  “อรหัง”  เป็นตัวนูน อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมที่กดจมลงเนื้อพระ  อันเป็นลักษณะของทองคำแท่ง ของห้างทองตั้งโต๊ะกัง  ที่เขียนคำว่า  “ตั้งโต๊ะกัง” เป็นตัวนูน  อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมที่กดจมลงในเนื้อทองคำแท่ง....พระสมเด็จอรหัง พิมพ์ฐานคู่ หลังโต๊ะกัง  องค์นี้สภาพสวยแชมป์ คม-ชัด-ลึก ผิวเดิมๆ ด้านหลังมีตราปั๊ม  "อะ ระ หัง"  ชัดเจน  ไม่มีรอยชำรุดอุดซ่อม  การันตี  “พระแท้” ด้วยรางวัลที่ 1 งานประกวดพระที่รับรองโดยสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย  หลายครั้ง  และมีภาพอยู่ในหนังสือ “สุดยอดพระเนื้อผงยอดนิยม” จัดทำโดยนิตยสารพระท่าพระจันทร์  เป็นพระของ  นพ.มาณพ  โกวิทยา  แหล่งรวมพระยอดนิยมทุกสำนัก

 




พระกริ่งหลวงพ่อฑูรย์ รุ่น2 วัดโพธินิมิตร ปี2494 ของ เบนซ์ ทวีทรัพย์
พระกริ่งหลวงพ่อฑูรย์ รุ่น2 วัดโพธินิมิตร ปี2494 ของ เบนซ์ ทวีทรัพย์
พระกริ่งหลวงพ่อฑูรย์ รุ่น2 วัดโพธินิมิตร ปี2494 ของ เบนซ์ ทวีทรัพย์

 

        พระกริ่งหลวงพ่อฑูรย์  รุ่น 2 วัดโพธินิมิตร สถิตมหาสีมาราม บางยี่เรือ ธนบุรี  สร้างในปี 2494  โดยมี  ท่านเจ้าคุณศรีฯ (สนธิ์) วัดสุทัศนฯ  เป็นประธานและเจ้าพิธีในการสร้างพระกริ่งรุ่นนี้  ท่านเจ้าคุณศรีฯ (สนธิ์)  ได้นำชนวนเก่าๆ  ที่เหลือจากการหล่อพระกริ่ง พระชัยวัฒน์ ของวัดสุทัศนฯ  เป็นส่วนผสมในการเททองหล่อพระกริ่งรุ่นนี้ด้วย  โดยได้กำหนดเครื่องพิธีต่างๆ พร้อมทั้งฤกษ์ยามในการเททอง  เพื่อให้ถูกต้องตามตำราของวัดสุทัศนฯ   พุทธลักษณะเป็นพระกริ่งอุ้มบาตร เนื้อทองผสม ผิวสีน้ำตาล เทหล่อโบราณ หล่อตันแล้วเจาะใต้ฐานบรรจุกริ่ง   โดยมีพระเกจิอาจารย์เก่งๆ  สมัยนั้นร่วมปลุกเสกจำนวนมาก  อาทิ   สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม),   หลวงพ่อเส่ง วัดกัลยาณมิตร,   หลวงพ่อเส่ง วัดน้อยนางหงส์,   หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี,  หลวงปู่นาค วัดระฆัง,  หลวงพ่อโชติ วัดตะโน  ฯลฯ   พระกริ่งรุ่นนี้จัดเป็นพระกริ่งเก่าสายวัดสุทัศนฯ  ที่มีพิมพ์ทรงเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง  องค์พระไม่ใหญ่เกินไป  ขนาดห้อยคอได้สบาย   บูชาแทนพระกริ่ง พระชัยวัฒน์ ของ ท่านเจ้าคุณศรีฯ (สนธิ์) ได้อย่างสนิทใจ  เป็นพระของ  เบนซ์  ทวีทรัพย์   คนหนุ่มสายเลือดใหม่ ศิษย์สาย  อ.เกี๊ยก ทวีทรัพย์  ผู้มีสายตาเฉียบขาดในการดูพระได้อย่างหลากหลาย

 



พระลำปางหลวง พิมพ์พระลือหน้ายักษ์ เนื้อสำริด วัดพระธาตุลำปางหลวง พ.ศ.2484 ของ แป๊ก ลำปาง
พระลำปางหลวง พิมพ์พระลือหน้ายักษ์ เนื้อสำริด วัดพระธาตุลำปางหลวง พ.ศ.2484 ของ แป๊ก ลำปาง

 

        พระลำปางหลวง  พิมพ์พระลือหน้ายักษ์  เนื้อสำริด  วัดพระธาตุลำปางหลวง  จ.ลำปาง  สร้างเมื่อ พ.ศ.2484  พร้อมกับ  พระรอดลำปางหลวง  พิมพ์นิยม   คือ  เป็นพระที่เทหล่อจากแผ่นทองจังโกโบราณ  (แผ่นทองสำริด ที่ปะติดองค์พระธาตุลำปางหลวงมานานปี)  เป็นชนวนมวลสารสำคัญในการเทหล่อพระพิมพ์นี้ โดยถอดพิมพ์มาจาก พระลือหน้ายักษ์ พระกรุเมืองลำพูน ...  พระลำปางหลวง  พิมพ์พระลือหน้ายักษ์  มีจำนวนสร้างที่น้อยกว่า  พระรอดลำปางหลวง พิมพ์นิยม มาก  คาดว่าน่าจะมีจำนวนสร้างไม่เกิน 100 องค์   องค์พระมีขนาดค่อนข้างเขื่อง คือ  กว้างประมาณ 2.5 ซม.  สูงประมาณ 5.2 ซม. องค์นี้เป็นพระของ   แป๊ก ลำปาง   คนหนุ่มสายเลือดใหม่ ผู้ชำนาญพระสายนี้โดยเฉพาะ

 



พระหล่อพิมพ์พระพุทธ พิมพ์ปรกโพธิ์ หลวงปู่บุญใหญ่ วัดเจดีย์คีรีวิหาร เนื้อทองผสม พ.ศ.2489 ของ มด ท่าเหนือ

 

        พระหล่อพิมพ์พระพุทธ พิมพ์ปรกโพธิ์ (โพธิ์พฤกษ์)  ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร  หลวงปู่บุญใหญ่  วัดเจดีย์คีรีวิหาร  จ.อุตรดิตถ์  เนื้อทองผสม  สร้างเมื่อ พ.ศ.2489  ที่ระลึกในงานฉลองโบสถ์วัดเจดีย์คีรีวิหาร  ขนาดองค์พระ 1.6×2.4 ซม. ออกพร้อมกับ เหรียญรุ่นแรก ....พระหล่อพิมพ์พระพุทธ  พิมพ์ปรกโพธิ์  สนนราคาประมาณ 3-4 หมื่นบาท  องค์นี้เป็นพระของ   มด ท่าเหนือ (ธนาธิป ศรีสมบูรณ์)  หนุ่มอุตรดิตถ์ผู้ศรัทธาพระบ้านเกิดเป็นอย่างยิ่ง ……หลวงปู่บุญใหญ่  (เกิดเมื่อ 7 เม.ย.2415 มรณภาพ พ.ศ.2502)  เป็นพระเกจิอาจารย์ ผู้มีวิชาอาคมสูง  พระเครื่องของท่านจึงได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง  มีประสบการณ์ทุกด้าน    พระผงคลุกรัก พ.ศ.2470  ท่านได้สูตรการสร้าง พระผงคลุกรัก มาจาก  หลวงปู่ศุข  วัดปากคลองมะขามเฒ่า  เมื่อครั้งที่  หลวงปู่ศข  ได้ขึ้นไปสักการะ หลวงพ่อเพ็ชร์ วัดท่าถนน จ.อุตรดิตถ์  และได้ถ่ายรูปร่วมกันที่หน้าประตูพระอุโบสถ เมื่อ พ.ศ.2461 …เนื้อพระผงคลุกรัก ของ  หลวงปู่บุญใหญ่  จึงคล้ายกับของ  หลวงปู่ศุข  มาก   จนบางคนคิดว่าเป็นพระของ  หลวงปู่ศุข  ก็มี   





“นางกวัก” หลวงพ่อไล้ วัดเขายี่สาร จ.สมุทรสงคราม ของ เติ้ง รักษ์ศิลป์
“นางกวัก” หลวงพ่อไล้ วัดเขายี่สาร จ.สมุทรสงคราม ของ เติ้ง รักษ์ศิลป์
“นางกวัก” หลวงพ่อไล้ วัดเขายี่สาร จ.สมุทรสงคราม ของ เติ้ง รักษ์ศิลป์

        “นางกวัก” หลวงพ่อไล้  วัดเขายี่สาร  จ.สมุทรสงคราม  ท่านเป็นพระสงฆ์ที่มีเชื้อสายจีนมาแต่กำเนิด  เล่าขานกันว่า  หลวงพ่อไล้  เป็นพระที่มีวาจาสิทธิ์  พูดกล่าวสิ่งใดก็จะเป็นอย่างนั้น   พระเครื่องและลูกอมของท่าน นับเป็นวัตถุมงคลในตำนาน  ที่หาตัวจริงยากมากที่สุด อีกสำนักหนึ่ง   สร้างจากผงพุทธคุณที่ท่านเขียนลบเอง  ผสมกับว่านหลายชนิด   แล้วนำมานวดกลึงเป็นก้อนกลม ขนาดไล่เลี่ยกัน   จากนั้นจึงนำไปเก็บไว้ในโบสถ์   หลวงพ่อไล้จะทำวัตรเช้าเย็นทุกวัน  พร้อมกับปลุกเสกพระเครื่องและลูกอม  ที่ขึ้นชื่อด้านเมตตามหานิยม  มหาเสน่ห์  คงกระพันชาตรี  รวมถึงเรื่องกันเขี้ยวกันงา   องค์นี้เป็น  “พิมพ์นางกวัก”  เป็นหนึ่งในพิมพ์ที่หายากที่สุด  สภาพสวยแชมป์  คมชัดลึก  เนื้อจัดมัน  ไม่ผ่านการใช้มาก่อน   ของ   เติ้ง  รักษ์ศิลป์  (ณัทธร มุสิกบุญเลิศ)    ผู้ชำนาญพระเครื่องรางของขลัง ระดับแถวหน้าของวงการพระเครื่องเมืองไทย