ยอดนิยมจากคมเลนส์ / แล่ม จันท์พิศาโล ครั้งที่ 70

14 ตุลาคม 2563 ยอดผู้ชม 8479 ครั้ง


ยอดนิยมจากคมเลนส์  /  แล่ม จันท์พิศาโล ครั้งที่ 70




พระพิมพ์ชินราชปรกโพธิ์ เนื้อชินเงิน กรุวัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา ของ สันต์ วิวัฒน์วาณิชย์ (เสือ ชุมพร)
พระพิมพ์ชินราชปรกโพธิ์ เนื้อชินเงิน กรุวัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา ของ สันต์ วิวัฒน์วาณิชย์ (เสือ ชุมพร)


        วัดราชบูรณะ  จ.พระนครศรีอยุธยา  เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง สร้างในสมัย  สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2  (เจ้าสามพระยา)  เมื่อ พ.ศ.1967  บนพื้นที่ที่ใช้ถวายพระเพลิง เจ้าอ้ายพระยา และเจ้ายี่พระยา  2 พระเชษฐาซึ่งทำศึกยุทธหัตถี แย่งชิงราชสมบัติกันเอง  จนสิ้นพระชนม์ทั้งคู่  ทำให้ เจ้าพระยา พระโอรสองค์ที่ 3 ใน  สมเด็จพระอินทราชา  ได้เสด็จขึ้นครองราชย์แทนพระราชบิดา  พร้อมกับโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดราชบูรณะ และพระปรางค์ 2 องค์ขึ้นในบริเวณนั้น  พระราชทานนามว่า  พระปรางค์เจ้าอ้ายพระยา และเจ้ายี่พระยา  เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา และถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระเชษฐาทั้ง 2 พระองค์ .... ล่วงมาถึงประมาณ พ.ศ.2499   ได้มีคนร้ายลักลอบขุดกรุพระในองค์พระปรางค์ เข้าไปขนเอาสมบัติภายในกรุไปเป็นจำนวนมาก  รวมทั้งพระพิมพ์เนื้อชินเงินจำนวนหนึ่ง  ต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ.2500  กรมศิลปากร ได้เปิดกรุองค์พระปรางค์ อย่างเป็นทางการ  ได้พบสมบัติเครื่องทอง,  พระบรมสารีริกธาตุ  และของมีค่ามากมาย   โดยเฉพาะพระเครื่องมีมากกว่า 1 แสนองค์  กรมศิลปากร  จึงได้เปิดให้ประชาชนเช่าบูชา  เพื่อนำเงินส่วนหนึ่งสร้าง  “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา” เก็บรักษาสิ่งของมีค่าต่างๆ จากองค์พระปรางค์ไว้อย่างเป็นระบบ  พระเครื่องกรุวัดราชบูรณะ  มีจำนวนมากพิมพ์ และมากจำนวนองค์พระ  อาทิ  พิมพ์ยอดขุนพล  พิมพ์ปรุหนัง  พิมพ์หูยาน  พิมพ์ใบขนุน  พิมพ์นาคปรก  พิมพ์อู่ทอง  ฯลฯ  ทั้งหมดเป็นพระเนื้อชินเงิน  ล้อศิลปะลพบุรี  และล้อศิลปะเมืองอื่นๆ  องค์ที่นำมาให้ชมนี้  คือ   พระพิมพ์ชินราชปรกโพธิ์  เนื้อชินเงิน  พุทธศิลป์งดงามอลังการมาก  สันนิษฐานว่า  เป็นฝีมือช่างหลวง  องค์นี้สวยสมบูรณ์คมชัดมาก  เป็นพระเก็บเก่าของ  สันต์ วิวัฒน์วาณิชย์ (เสือ)  นักสะสมพระเครื่องรุ่นอาวุโสแห่งเมืองชุมพร




พระขุนแผนอินโดจีน หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม จ.นครปฐม พ.ศ.2484 ของ รัก สุพรรณ
พระขุนแผนอินโดจีน หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม จ.นครปฐม พ.ศ.2484 ของ รัก สุพรรณ

        พระเครื่องรางของขลังของ  หลวงพ่อเต๋  คงคสุวัณโณ  วัดอรัญญิการาม (วัดสามง่าม)  อ.ดอนตูม  จ.นครปฐม  ที่สร้างชื่อเสียงโด่งดังสุดๆ  จนถึงทุกวันนี้  คือ  ตุ๊กตาทอง   หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า  “กุมารทอง”   หลวงพ่อเต๋ได้ตำราการสร้างจากหลวงลุงแดง  มวลสารสำคัญประกอบด้วย  ผงวิเศษต่างๆ,  ว่านอาถรรพ์ 108,  ดินโป่ง 7 โป่ง,  ดิน 7 ป่าช้า,  ดิน 7 ท่า,  ดิน 7 กลางใจนา,  ดินขุยปู, ไคล 7 เสมา,  กระดูก​เด็กที่ตายวันเสาร์ เผาวันอังคาร  ฯลฯ   ท่านได้เอามวลสารทั้งหมดผสมจนเข้ากันดี  แล้วเอามาปั้นเป็นตัวตุ๊กตาทอง  จากนั้นเอาไปเผาไฟ  เพื่อให้ตัวตุ๊กตาทองมีความแข็งแรงทนทาน  ขั้นสุดท้ายคือการปลุกเสก  ท่านจะเอาตุ๊กตาทองวางนอนลง แล้วทำพิธีปลุกเสก จนตุ๊กตาทองลุกขึ้นเองได้ตามตำรา.... หลวงพ่อเต๋​  ได้สร้างตุ๊กตาทอง  รุ่นแรก เมื่อ พ.ศ.2484  ปัจจุบันเช่าหากันถึงหลักล้าน....โอกาสเดียวกันนี้  หลวงพ่อเต๋   ได้สร้าง  “พระขุนแผนอินโดจีน”  ​พร้อมกับตุ๊กตาทอง  ด้วยเนื้อมวลสารเดียวกัน  ปลุกเสกพร้อมกัน คุณวิเศษเช่นเดียวกัน  พระขุนแผนอินโดจีน  มี 2 พิมพ์  คือ  พิมพ์มีกุมารทองใต้องค์พระ  และพิมพ์ไม่มีกุมารทองใต้องค์พระ ​ ขนาดองค์พระ กว้าง​ 1​ นิ้ว  สูง 1.5 นิ้ว   พระขุนแผนอินโดจีน  ส่วนหนึ่งได้แจกทหารที่ไปราชการสงครามอินโดจีน  ทหารที่มีพระขุนแผนติดตัวไป  จะปลอดภัยกลับมาทุกคน  นอกจากนี้ยังมีอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์​ ด้านเมตตามหา​นิยม มีโชคลาภ​  เป็นที่แสวงหาของลูกศิษย์และนักสะสมพระเครื่องมานานปี  องค์ในภาพนี้เป็น พิมพ์ไม่มีกุมารทองใต้องค์พระ  สวยงามคมชัดมาก  ผิวสะอาด  มีหน้าตาจมูกครบ  ไม่ผ่านการใช้มาก่อน  สภาพนี้เช่าหากันที่หลักแสน  องค์นี้เป็นพระของ   รัก สุพรรณ   ผู้โชคดีมีโอกาสได้รับการลงกระหม่อมจาก  หลวงพ่อเต๋  มาแล้ว   




พระปรกจ้อย หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ ปี 2517 เนื้อนวโลหะของ อนุศักดิ์ กิตติศิริสวัสดิ์
พระปรกจ้อย หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ ปี 2517 เนื้อนวโลหะของ อนุศักดิ์ กิตติศิริสวัสดิ์

            พระนาคปรกใบมะขาม หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่  ปี 2517  หรือที่วงการพระเครื่องเรียกว่า   “พระปรกจ้อย”  หลวงปู่ทิม  เป็นพระเครื่องขนาดเล็กที่มีการเช่าหาบูชากันในราคาสูงมากองค์หนึ่ง   “พระปรกจ้อย” สร้างด้วยเนื้อทองคำ  95  องค์  (เท่ากับอายุหลวงปู่ทิม ในปี 2517),  เนื้อเงิน  370 องค์,  เนื้อนวโลหะ  160 องค์,  เนื้อทองแดง  16,000 องค์,  เนื้อตะกั่ว  50  องค์,  เนื้อทองเหลือง  10  องค์ และเนื้อผงดำวัดสุทัศนฯ+ผงพรายกุมาร  400 องค์   ชั่วโมงนี้  “พระปรกจ้อย” เนื้อทองคำ  ราคาประมาณ 2,500,000-3,000,000 บาท,  เนื้อเงิน 300,000-500,000 บาท,  เนื้อนวโลหะ 400,000-650,000 บาท, เนื้อทองแดง 100,000-150,000 บาท ฯลฯ   “พระปรกจ้อย” มีพิมพ์ด้านหลังเพียงพิมพ์เดียว  ส่วนพิมพ์ด้านหน้า มี 2  พิมพ์  คือ  พิมพ์หน้าใหญ่  และพิมพ์หน้าเล็ก  (หูมีขีด) บล็อกแตก 3 เส้น บริเวณพระพักตร์  ซึ่งเกิดขึ้นกับ เนื้อทองคำ,  เนื้อเงิน,  เนื้อนวโลหะ เนื่องจากปั๊มทีหลัง  ส่วนเนื้อทองแดง พิมพ์หน้าใหญ่และพิมพ์หน้าเล็ก  (หูมีขีด) ปั๊มก่อน  พระพักตร์จึงไม่มีเส้นแตก   “พระปรกจ้อย”  ที่นำมาให้ชมนี้  คือ  เนื้อนวโลหะ  เป็นพระของ  อนุศักดิ์ กิตติศิริสวัสดิ์  นักสะสมพระเครื่องผู้เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ               




พระปิดตา หลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง จ.นครปฐมเนื้อตะกั่วของ สถิต มหัทธนไพศาล(สถิต ราชบุรี)
พระปิดตา หลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง จ.นครปฐมเนื้อตะกั่วของ สถิต มหัทธนไพศาล(สถิตราชบุรี)



พระปิดตา หลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง จ.นครปฐม เนื้อตะกั่วของ สถิต มหัทธนไพศาล(สถิต ราชบุรี)
พระปิดตา หลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง จ.นครปฐม เนื้อตะกั่วของ สถิต มหัทธนไพศาล(สถิต ราชบุรี)

            พระปิดตา หลวงปู่จันทร์  วัดบ้านยาง  อ.เมือง  จ.นครปฐม  ที่พบเห็นทั่วๆ ไป ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อเมฆพัด และเนื้อดิน  บางคนอาจจะไม่เคยเห็น  “เนื้อตะกั่ว”  จึงคิดว่าไม่มี   โดยส่วนตัวของ   สถิต มหัทธนไพศาล   ประธานกรรมการบริหาร สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย  สาขาจังหวัดราชบุรี   เจ้าของพระองค์ในภาพนี้มีความเห็นว่า......“พระเนื้อตะกั่ว”  คงสร้างยุคแรกๆ  เพราะรอยเหล็กจารครบสูตร  อักขระสวยงามกว่าที่เป็น  พระปิดตาเนื้อเมฆพัด  แสดงให้เห็นว่า  สายตาของ หลวงปู่จันทร์ ท่านยังดี   จึงจารได้สวยงามมาก   เรียกได้ว่า  ไม่แพ้ พระปิดตา วัดห้วยจระเข้   อีกอย่าง คือ ความเก่าของเนื้อพระส่องดูแล้วอายุเก่าจริง  ถึงยุคแน่นอน  (ผิดถูกยังไงก็ขออภัยด้วย)  ส่วนเรื่องพิมพ์ก็มีด้วยกันหลายพิมพ์  ถ้าจะเอาชัวร์  ก็ต้องจดจำลายมือที่หลวงปู่จารให้ได้ จะปลอดภัยแน่นอน  สำหรับพุทธคุณ โดดเด่นด้านมหาอุด  คงกระพันชาตรี  แคล้วคลาด  เมตตา  โชคลาภ  ครบเครื่อง  จัดเป็นของดีราคายังไม่รุนแรงมากนัก  และยังพอมีให้เก็บกันได้   ถ้าเทียบกับพระใหม่ถือว่ายังถูกกว่าเยอะ  อีกอย่างของเก่ามันคลาสสิก  เห็นแล้วอดใจไม่ไหว  ต้องซื้อไว้....หลวงปู่จันทร์  วัดบ้านยาง  (พระครูธรรมสุนทร) วัดบ้านยาง  อ.บ้านโป่ง  จ.ราชบุรี  (ปัจจุบันขึ้นกับ อ.เมือง จ.นครปฐม)  ท่านเกิดเมื่อ พ.ศ.2419  ที่หมู่บ้านริมคลองเหนือ  อ.บ้านโป่ง  จ.ราชบุรี  มรณภาพ พ.ศ.2494  สิริรวมอายุ 76 ปี  พรรษา 54  





กะลาแกะบูชา ราหูอมจันทร์ หลวงพ่อปิ่น วัดศีรษะทอง ของ นพ.มาณพ โกวิทยา
กะลาแกะบูชา ราหูอมจันทร์ หลวงพ่อปิ่น วัดศีรษะทอง ของ นพ.มาณพ โกวิทยา
กะลาแกะบูชา ราหูอมจันทร์ หลวงพ่อปิ่น วัดศีรษะทอง ของ นพ.มาณพ โกวิทยา

        กะลาแกะบูชา  ราหูอมจันทร์  หลวงพ่อปิ่น  วัดศีรษะทอง  จ.นครปฐม  พิมพ์ทรงแปลกตา  สภาพสวยสมบูรณ์  ศิลปะมาตรฐานนิยม  แกะจากกะลาตาเดียว ซึ่งหายากมาก  ผิวเดิมๆ  มีจารลายมือ หลวงพ่อปิ่น ทั้งด้านหน้าและหลัง  ดูง่ายชนิดว่าแท้ร้อยตา  แบบไม่ต้องผจญภัย  หายากมาก  พร้อมฐานรองไม้ลงสีดำปิดทองสวยหรู  สำหรับตั้งบูชา   การันตีด้วยบัตรรับรอง  “พระแท้”  จากสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย  พุทธคุณเป็นเลิศในด้านแก้ดวงตก เสริมดวงชะตา....หลวงพ่อเปิ่น  เป็นศิษย์ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาอาคมการสร้าง “พระราหู”  จาก  หลวงพ่อน้อย  โดยตรง  ความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์จึงเชื่อมั่นได้เต็มร้อย   กะลาแกะบูชา  ราหูอมจันทร์  หลวงพ่อปิ่น  ชิ้นนี้เป็นของ   นพ.มาณพ โกวิทยา  แหล่งรวมพระเครื่องรางของขลังมากมายหลายสำนัก