ยอดนิยมจากคมเลนส์ ครั้งที่55 / แล่ม จันท์พิศาโล

19 เมษายน 2562 ยอดผู้ชม 21756 ครั้ง


ยอดนิยมจากคมเลนส์ ครั้งที่55 / แล่ม จันท์พิศาโล

------------------****-------------------------

พระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง อ.ศรีประจันต์ นับเป็นกรุพระใหญ่ที่สุดของ จ.สุพรรณบุรี  เท่าที่ อ.มนัส โอภากุล ได้บันทึกไว้ในหนังสือตำรา พระเมืองสุพรรณ เล่มแรกของวงการพระ ว่ามีมากกว่า 60 พิมพ์ ต่อมาท่านได้ค้นพบอีกหลายสิบพิมพ์ ประมาณว่าพระกรุนี้อาจจะมีพิมพ์มากถึง 100 พิมพ์ ส่วนจำนวนพระนั้นไม่มีใครรู้ตัวเลขที่แน่นอน แต่คงมากมายมหาศาล สมัยก่อน พระขุนแผน มีวางเกลื่อนลานวัด จนเด็กๆ เอามาทอยเส้นแข่งกันก็มี เอาไปร่อนลงแม่น้ำแข่งกันว่าของใครโฉบผิวน้ำได้มากครั้งกว่ากันก็มี ผู้ใหญ่บางคนเอาไว้จ่ายเป็นค่านั่งสามล้อก็มี... ความมากมายมหาศาลของ พระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง เช่นนี้ สอดรับกับเหตุผลที่ว่า พระกรุนี้สร้างโดยฝีมือทหารหาญในกองทัพของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ร่วมกันกดพิมพ์สร้างพระชุดนี้ หลังจากรบชนะข้าศึกในสงครามยุทธหัตถี พระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง มีทั้งพิมพ์เดี่ยว (หรือ พลายเดี่ยว) และ พิมพ์คู่ (หรือ พลายคู่ พระ 2 องค์ติดกัน) องค์ในภาพนี้ คือ พระขุนแผน พลายเดี่ยว พิมพ์หน้าเทวดา สวยสมบูรณ์คมชัดทุกซอกมุม เป็นพระของ รังสรรค์ ทับแก้ว (ดามพ์ สุพรรณ) คนหนุ่มผู้ชำนาญพระยอดนิยมทุกประเภท

พระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง พลายเดี่ยว พิมพ์หน้าเทวดา ของ รังสรรค์ ทับแก้ว (ดามพ์ สุพรรณ)
พระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง พลายเดี่ยว พิมพ์หน้าเทวดา ของ รังสรรค์ ทับแก้ว (ดามพ์ สุพรรณ)

--------x-------------

พระพิมพ์สมเด็จปรกโพธิ์ หลวงพ่อโบ้ย วัดมะนาว จ.สุพรรณบุรี เป็นหล่อโบราณ โดยใช้ทองเหลืองเก่าๆ ที่ได้รับบริจาคจากชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธา นำมาหล่อหลอม ผสมกับชนวนมวลสารศักดิ์สิทธิ์ของท่าน จึงได้พระเนื้อโลหะ ทองผสม ที่มีเนื้อหาเข้มขลัง มีเอกลักษณ์คลาสสิกเป็นของท่านเอง...พระเครื่องของ หลวงพ่อโบ้ย ทุกรุ่นทุกพิมพ์มีประสบการณ์สุดยอดด้านอยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาดปลอดภัย รวมทั้งด้านเมตตามหานิยมค้าขายดี พระพิมพ์สมเด็จปรกโพธิ์ ถือเป็นพิมพ์นิยมของท่าน ปัจจุบันสภาพสวยสมบูรณ์แบบนี้ยากมาก องค์นี้เป็นพระของ ศ.นพ.พรพรหม เมืองแมน อาจารย์แพทย์ผู้ชำนาญโรคผิวหนังที่เกิดจากอุบัติเหตุ โรงพยาบาลศิริราช...หลวงพ่อโบ้ย เกิด พ.ศ.2435 อายุ 21 ปี อุปสมบทที่วัดมะนาว เรียนวิชาวิปัสสนากรรมฐานกับหลวงพ่อเนียม วัดน้อย และหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค สร้างพระเนื้อโลหะทองผสมหล่อโบราณ ครั้งแรกประมาณปี 2473 เอกลักษณ์สำคัญ คือ รอยย่นของเนื้อพระ รอยตะไบข้างที่มีเกือบทุกองค์ ต่อมาท่านได้สร้างพระเนื้อดินเผา พิมพ์ต่างๆ และพระรูปเหมือนท่านเอง พระเครื่องของท่านสร้างแจกอย่างเดียว ไม่ยอมรับปัจจัยใดๆ ทั้งสิ้น ท่านเป็นพระสุปฏิปันโน มักน้อย ถือสันโดษ ไม่รับตำแหน่งเจ้าอาวาส และไม่ว่าใครนิมนต์ไปไหนหากถวายเงินมากๆ จะไม่รับ ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2508 สิริรวมอายุ 74 ปี พรรษา 53

พระพิมพ์สมเด็จปรกโพธิ์ หลวงพ่อโบ้ย วัดมะนาว จ.สุพรรณบุรี ของ ศ.นพ.พรพรหม เมืองแมน
พระพิมพ์สมเด็จปรกโพธิ์ หลวงพ่อโบ้ย วัดมะนาว จ.สุพรรณบุรี ของ ศ.นพ.พรพรหม เมืองแมน
พระพิมพ์สมเด็จปรกโพธิ์ หลวงพ่อโบ้ย วัดมะนาว จ.สุพรรณบุรี ของ ศ.นพ.พรพรหม เมืองแมน

--------------------x-----------------------------

หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ท่านเกิดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2428  บรรพชาเมื่ออายุ 12 ปี อุปสมบทเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ (มรณภาพ เมื่อวันที่               26 กรกฎาคม 2500 สิริรวมอายุ 72 ปี พรรษา 52) ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนวิทยาคมจาก               พระเกจิอาจารย์ชื่อดังหลายรูป อาทิ หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย, หลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน, หลวงปู่ฉาย วัดพนัญเชิง, หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า, หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค, หลวงพ่อจง       วัดหน้าต่างนอก ฯลฯ ท่านได้สร้างพระเครื่องพระบูชาหลายแบบ พระทรงสัตว์เนื้อผงน้ำมัน เนื้อดิน เนื้อดินเผา เนื้อใบลาน และเนื้อโลหะ และยังได้รับนิมนต์ร่วมพิธีปลุกเสกวัตถุมงคลครั้งสำคัญต่างๆ อาทิ พิธีอินโดจีน ที่วัดสุทัศนฯ และพิธีกริ่งวัดสุทัศนฯ หลายครั้ง ท่านมีความสนิทสนมกับ ท่านเจ้าคุณศรีฯ (สนธิ์) และได้ชนวนมวลสารเก่าๆ ของวัดสุทัศนฯ มาผสมการสร้างพระเสมอ สำหรับ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ท่านให้ความเคารพนับถือมากเป็นพิเศษ ในฐานะลูกศิษย์และสหายธรรมรุ่นน้อง จึงได้รับอิทธิพลในการจัดสร้างพระพิมพ์ทรงสัตว์ต่างๆ มาจากหลวงพ่อปานด้วย เช่น องค์ในภาพนี้ พระพิมพ์ทรงหนุมาน เนื้อผงผสมน้ำมันตังอิ้ว สวยคมชัดมาก เป็นพระของ ภมร ภคอัครเลิศกุล (ตือ ประตูน้ำ) นักสะสมพระเครื่องหลากหลายประเภท

พระหลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง พิมพ์ทรงหนุมาน เนื้อผงผสมน้ำมัน ของ ภมร ภคอัครเลิศกุล (ตือ ประตูน้ำ)
พระหลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง พิมพ์ทรงหนุมาน เนื้อผงผสมน้ำมัน ของ ภมร ภคอัครเลิศกุล (ตือ ประตูน้ำ)

------------------------------x--------------------------

 

            วัดพระแก้ววังหน้า (วัดบวรสถานสุทธาวาส) เป็นวัดในพระราชวังบวรสถานมงคล สร้างขึ้นโดย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ซึ่งเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ใน     รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานนามว่า วัดบวรสถานสุทธาวาส ปัจจุบันตั้งอยู่ในสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลปะ บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  ต่อมาในสมัย ร.7 ได้โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะ ซ่อมแซมพระราชวังหน้า เพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โอกาสนั้นได้มีผู้ค้นพบ พระปิดตาวังหน้า และ พระโคนสมอ อยู่บนเพดานท้องพระโรงพระราชวัง พระปิดตาวังหน้า ส่วนหนึ่งได้บรรจุไว้ในเจดีย์ วัดพระแก้ว อีกส่วนหนึ่งหลุดรอดเข้าสู่สนามพระ  พระปิดตา      กรุวัดพระแก้ววังหน้า เป็นพระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก ผสมครั่ง มี 3 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ กลาง เล็ก มีทั้งพิมพ์หน้าเดียวและสองหน้า สันนิษฐานว่าเป็นพระปิดตาที่ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างขึ้น พร้อมกับพระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) และวัดพระแก้ว          ปลุกเสกโดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดังหลายสำนัก ร่วมกันนั่งปรกปลุกเสก เพื่อทูลเกล้าถวายแด่สมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน  เมื่อวัดพระแก้ววังหน้าสร้างแล้วเสร็จ ได้มีการนำพระชุดนี้ไปบรรจุกรุที่วัดพระแก้ววังหน้าด้วย พระปิดตาวังหน้า พิมพ์ 2 หน้า องค์นี้สวยแชมป์คมชัดทุกมิติ เป็นพระดูง่าย ของ สัญชัย กองโสภี (อ้วน จัมโบ้เอ) (ขอขอบพระคุณ ข้อมูลจากหนังสือ “รวมภาพสี” โดย อ.ประชุม กาญจนวัฒน์)

พระปิดตา กรุวังหน้า พิมพ์ 2 หน้า เนื้อผงคลุกรัก ผสมครั่ง ของ สัญชัย กองโสภี (อ้วน จัมโบ้เอ)
พระปิดตา กรุวังหน้า พิมพ์ 2 หน้า เนื้อผงคลุกรัก ผสมครั่ง ของ สัญชัย กองโสภี (อ้วน จัมโบ้เอ)

-------------------------x-------------------------

รูปเหมือนปั๊ม หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ จ.นครสวรรค์ สร้างเมื่อปี 2482 พร้อมเหรียญรูปไข่ ในคราวที่หลวงพ่อเดิมอายุครบ 82 ปี พรรษา 60  มี 2 คือ เนื้อทองเหลือง  และเนื้อช้อนส้อม      (หรือเนื้ออัลปาก้า) มีแม่พิมพ์ชุดเดียว หน้า/หลัง เนื่องจากเป็นรูปเหมือนปั๊ม เครื่องปั๊มจะกระแทกโลหะลงบนแม่พิมพ์ด้านหน้าและด้านหลัง หลายๆ ครั้ง แม่พิมพ์ย่อมเกิดการชำรุดแตกตัว เป็นรายละเอียดที่เริ่มแตกต่างจากการปั๊มในคราวแรกๆ นักสะสมพระเครื่องได้จับจุดปลีกย่อยรอยชำรุดเหล่านี้มาแยกพิมพ์ (เฉพาะด้านหลัง) เป็นพิมพ์นิยม 1 (เอ)- 2 (บี)- 3 (ซี)- 4 (ดี) และสุดท้าย แม่พิมพ์ด้านหน้าเกิดชำรุด ช่างได้ทำแม่พิมพ์ด้านหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอีก 2 แบบพิมพ์ คือ 1.พิมพ์คอตึงจีวรถี่  2.พิมพ์คอตึงจีวรห่าง ส่วนแม่พิมพ์ด้านหลังคงใช้แม่พิมพ์เดิม  (ขอขอบพระคุณ ข้อมูลจาก อ.เกี๊ยก ทวีทรัพย์ ผู้ชำนาญพระรูปเหมือนหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ)รูปเหมือนปั๊ม หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ  องค์ในภาพนี้เป็น พิมพ์นิยม (เอ) เนื้ออัลปาก้า ของ บอย โกพัด เช่ามากว่า 1 ล้านบาท

รูปเหมือนปั๊ม หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ ปี 2482 พิมพ์นิยม (เอ) เนื้ออัลปาก้า ของ บอย โกพัด
รูปเหมือนปั๊ม หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ ปี 2482 พิมพ์นิยม (เอ) เนื้ออัลปาก้า ของ บอย โกพัด

--------------------------x-------------------------