ยอดนิยมจากคมเลนส์ ตอนที่ 1

24 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 11937 ครั้ง

สวัสดีท่านผู้อ่านที่เคารพนับถือ...กลับมารับใช้ท่านผู้อ่านอีกครั้งหนึ่ง หลังจากหายหน้าไปเป็นเวลานานพอสมควร คอลัมน์นี้เป็นการคัดเลือก พระเครื่อง หรือ เหรียญ ที่ผ่านการกลั่นกรองมาแล้วว่าเป็น “ของแท้” มีความเก่า หายาก สวยสมบูรณ์ มาให้ท่านได้ศึกษาหาความรู้และข้อมูลจากองค์พระเหมือนเช่นที่ผ่านมา


โดยแล่ม จันท์พิศาโล


พระสมเด็จจิตรลดา ปี 2510 ของ นพ.มาณพ โกวิทยา



องค์แรกของวันนี้ ขอถือฤกษ์เอาชัยด้วย “พระสมเด็จจิตรลดา” พระเครื่องที่ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ทรงสร้างขึ้น โดยทรงกดพิมพ์ด้วยพระองค์เอง ระหว่างปี 2508-2513 พระยุคแรกจะมีมวลสารมาก ฐานบัวจะไม่คมชัดเหมือนยุคหลังๆ จำนวนสร้างประมาณ 3,000 องค์ (มี พิมพ์เล็ก อีกจำนวนหนึ่ง ไม่มากนัก) องค์ในภาพนี้เป็น “พระสมเด็จจิตรลดา” ปี 2510 ของ “นพ.มาณพ โกวิทยา” แพทย์ท่านแรกที่หันมายึดอาชีพ “เซียนพระ” อย่างเต็มตัว


พระร่วงยืนหลังลายผ้า กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี เนื้อชินสนิมแดง ของ ศ.นพ.พรพรหม เมืองแมน



“พระร่วงยืนหลังลายผ้า” กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี เนื้อชินสนิมแดง ปางยืนประทานพร ศิลปะเขมรยุคบายน อายุความเก่ากว่า 800 ปี พุทธศิลป์งดงามอลังการมาก บ่งบอกถึงฝีมือการสร้างโดย “ช่างหลวง” ในราชสำนักพระมหากษัตริย์ พระพิมพ์นี้แตกกรุครั้งแรกเมื่อประมาณ พ.ศ.2430 องค์นี้เป็นพระสภาพสวยสมบูรณ์ เป็นพระพิมพ์ “หน้ายักษ์” จุดสำคัญที่เด่นสง่าในพระองค์นี้คือ “ซุ้มกระจังรอบพระเศียร” ติดชัดเจนมาก โดยทั่วไปจะไม่คมชัดขนาดนี้ “ศ.นพ.พรพรหม เมืองแมน” คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เจ้าของพระองค์นี้บอกว่า ได้ส่งเข้าประกวดงานใหญ่ที่สมาคมรับรองมาแล้ว ได้รับรางวัลชนะเลิศ 3 งาน ที่ผ่านมามีประสบการณ์กับพระองค์นี้มาก จึงรักและหวงแหนเป็นพิเศษ


พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ จ.ปัตตานี เนื้อโลหะผสม หลังเตารีด พิมพ์ใหญ่ ปี 2505 ของ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช



“พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้” จ.ปัตตานี เนื้อโลหะผสม หลังเตารีด พิมพ์ใหญ่ ปี 2505 มีการแบ่งออกเป็น “พิมพ์ใหญ่ เอ พิมพ์ใหญ่ บี” และ “พิมพ์ใหญ่ ซี” 2 พิมพ์หลังนี้ บางครั้งจะเรียกว่า”พิมพ์หลังเตารีดหัวมน” องค์ในภาพนี้เป็น “พระหลวงพ่อทวด หลังเตารีด พิมพ์ใหญ่ เอ ปี 2505”(คางขีด-บัวขีด ซึ่งเป็นพิมพ์นิยม) เนื้อโลหะผสม กระแสเนื้อออกวรรณะแดง ถือเป็นเนื้อนิยม อีกทั้งหล่อออกมาได้ล่ำลึกคมชัด เส้นจีวรและร่องจีวรเป็นทิวแถว มีมิตินูนลึก กลีบบัวสัณฐานรูปสามเหลี่ยมที่มีขนาดสม่ำเสมอทุกกลีบ มีคราบเบ้าและดินเบ้ากระจุกตามซอกครบสูตร ที่สำคัญ คือ มีความหนาเป็นพิเศษ จัดเป็น “พระแท้ดูง่าย” ชนิดไม่ต้องส่องกล้อง ได้รับรางวัลชนะเลิศงานประกวดพระที่สมาคมผู้นิยมพระเครื่องฯ รับรองมาแล้ว เป็นพระของ “ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช” คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ผู้ชำนาญการ “พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้” มีพระสายนี้อยู่ในครอบครองหลายร้อยองค์


พระขุนแผนผงพรายกุมาร หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ จ.ระยอง พิมพ์ใหญ่ หลังฝังตะกรุดสาลิกาคู่ของ ชวการ ธรรมรัตน์ (รัก สุพรรณ)



“พระขุนแผน” ต้นตำรับ คือ “พระขุนแผน” กรุวัดบ้านกร่าง จ.สุพรรณบุรี และ “พระขุนแผนเคลือบ” กรุวัดใหญ่ชัยมงคล จ.พระนครศรีอยุธยา อายุกว่า 400 ปี ซึ่งหายากและมีราคาสูง แต่ปัจจุบัน “พระขุนแผน” ที่สร้างใหม่เมื่อประมาณปี 2516-2517 กลับมีราคาสูงกว่ามากมาย นั่นคือ “พระขุนแผนผงพรายกุมาร หลวงปู่ทิม” วัดละหารไร่ จ.ระยอง ซึ่งมีทั้ง “พิมพ์ใหญ่” และ “พิมพ์เล็ก” โดยเฉพาะ “พระขุนแผนผงพรายกุมาร หลวงปู่ทิม พิมพ์ใหญ่ หลังฝังตะกรุดสาลิกาคู่” องค์ในภาพนี้เช่าหากันถึงกว่า 2 ล้านบาท องค์นี้สภาพสวยเดิมๆ คมชัดทุกมิติ ถือเป็น “พระองค์ครู” ได้เลย ของ “ชวการ ธรรมรัตน์ (รัก สุพรรณ)” ผู้ชำนาญพระสายนี้


เหรียญพระอุปัชฌาย์ก๋ง วัดเขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี รุ่นแรก ประมาณ พ.ศ.2468 เนื้ออัลปาก้า ของ ชรินทร์ สงขลา (ชรินทร์ ทางรัตนสุวรรณ)



“เหรียญพระอุปัชฌาย์ก๋ง” วัดเขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี รุ่นแรก สร้างประมาณ พ.ศ.2468 ด้วยวิธีปั๊มข้างกระบอก มี 3 เนื้อ คือ เนื้อเงินผสม (บางคนเรียกว่า เนื้ออัลปาก้า หายากมาก), เนื้ออะลูมิเนียม, และเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง เหรียญในภาพนี้เป็น เนื้ออัลปาก้า สวยคมชัดสภาพเดิมๆ ของ “ชรินทร์ สงขลา” (ชรินทร์ ทางรัตนสุวรรณ) สุดยอดนักสะสมเหรียญพระเกจิอาจารย์ยุคเก่า


พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า “ขอขอบพระคุณ” ทุกท่านที่ติดตามอ่านคอลัมน์นี้ ขอให้โชคดีมีโอกาสเป็นเจ้าของ “พระแท้” โดยทั่วกัน...สวัสดี