ยอดนิยมจากคมเลนส์ ตอนที่ 5

24 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 36037 ครั้ง
สวัสดีท่านผู้อ่านที่เคารพนับถือ...วันนี้ “ยอดนิยมจากคมเลนส์” ของเราได้รวมรวมพระที่หายากและที่มีลักษณะที่สมบูรณ์ไว้ใน “ยอดนิยมจากคมเลนส์ ตอนที่ 5”

“พระซุ้มกอ กรุทุ่งเศรษฐี จ.กำแพงเพชร พิมพ์ใหญ่ มีลายกนก ซอกแขนลึก ของ นพ.มาณพ โกวิทยา”


“ยอดนิยมจากคมเลนส์” วันนี้ขอเริ่มด้วย "พระซุ้มกอ กรุทุ่งเศรษฐี จ.กำแพงเพชร” 1 ใน 5 ของพระชุดเบญจภาคี ที่นักสะสมพระเครื่องใฝ่ฝันอยากจะได้ไว้เป็นเจ้าของ...“พระซุ้มกอ” เป็นพระเครื่องสมัยสุโขทัย ฝีมือช่างเมืองกำแพงเพชร เนื้อดินละเอียดอันเป็นเอกลักษณ์ของพระกรุนี้ บางองค์จะปรากฏว่านดอกมะขามประปราย บางองค์เนื้อจัดเพราะผ่านการใช้โดยการถูกสัมผัสมานานปี บางองค์มีการลงรัก หรือทายางไม้ ทำให้องค์พระมีความซึ้งตามากขึ้น “พระซุ้มกอ” แบ่งออกเป็นหลายพิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ มีลายกนก (ซอกแขนลึก), พิมพ์ใหญ่ ไม่มีลายกนก (พระซุ้มกอดำ), พิมพ์กลาง ซอกแขนตื้น,พิมพ์เล็ก, พิมพ์ขนมเปี๊ยะ (มีปีก) และพิมพ์พิเศษ“พัดใบลาน” (มีน้อยมาก) ทุกวันนี้พระสวยระดับแชมป์กลายเป็นพระในตำนานไปหมดแล้ว ไม่มีหมุนเวียนอยู่ในวงการเลย องค์ที่โชว์เป็น “พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่มีกนก” ซอกแขนลึก สภาพสวยแชมป์ คม-ชัด-ลึก มีหน้าตาไรๆ เนื้อดินผิวเดิมๆ ส่งประกวดติดรางวัลที่ 1 งานที่รับรองโดย “สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย” มาแล้วหลายครั้ง อีกทั้งยังเป็นพระองค์เด่นดังที่มีภาพอยู่ในหนังสือพระเครื่องหลายเล่ม เป็นพระเก็บอย่างเดียวไม่ขายของ “นพ.มาณพ โกวิทยา” ชมรมพระเครื่องมรดกไทย ชั้น 3 ห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน


“พระเพชรหลีก พระทักษิณคณิศร วัดใต้ ของ ศ.นพ.พรพรหม เมืองแมน”


center

“ท่านเจ้าคุณ พระทักษิณคณิศร” วัดอินทาราม (วัดใต้) ธนบุรี ท่านเป็นลูกศิษย์ของ“สมเด็จพระวันรัต (แดง)” วัดสุทัศนฯ และ “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ์)” วัดอรุณฯ นอกจากนี้ท่านยังเป็นสหธรรมิกที่มีความสนิทสนมกับ “สมเด็จพระสังฆราช (แพ)”วัดสุทัศนฯ ท่านได้สร้าง “พระเพชรหลีก” อันเป็นวิชาต้นตำรับ และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของท่าน เนื่องมาจากท่านได้พิจารณาเห็น “ข้าวเปลือก” ที่คงสภาพเหมือนเดิมอยู่ในจานข้าวของท่าน โดยเห็นว่า“ ข้าวเปลือก” กว่าจะมาเป็นเมล็ดข้าวได้ต้องรอดจากการถูกกินของนกหนูในนา รอดจากการสีข้าวของโรงสี และผ่านการหุงต้มก็ยังอยู่ในสภาพเดิม ไม่เป็นข้าวสารข้าวสวยแต่อย่างใด จึงนับว่ามีอุปเท่ห์ทางแคล้วคลาด ท่านจึงสั่งให้พระเณรเก็บข้าวเปลือกลักษณะนี้ในจานข้าวเอาไว้ เมื่อมีจำนวนมากพอสมควรแล้ว ท่านจึงได้สร้างพระเครื่องขึ้น โดยนำผงพุทธคุณผสมกับผงใบลานเผาจากคัมภีร์โบราณ แล้วนำไปกดลงบนแม่พิมพ์ โดยจะกดพิมพ์ส่วนหนึ่งก่อน แล้วนำข้าวเปลือก 5 เมล็ดวางเรียงลงไป จากนั้นจึงนำเนื้อผงมากดทับอีกทีหนึ่ง หลังจากนั้นท่านจะลงจารคาถาพระเจ้าห้าพระองค์ (นะโมพุทธายะ) ที่ด้านหลังทุกองค์ แล้วจึงนำไปปลุกเสกเดี่ยวอีกครั้ง เรียกพระเครื่องที่สร้างขึ้นนี้ว่า “พระเพชรหลีก” มี 2 พิมพ์ คือ พิมพ์สมาธิเพชร และพิมพ์สมาธิราบ องค์ในภาพนี้สภาพสวยสมบูรณ์มาก ผิวหิ้งเดิมๆ ติดรางวัลงานใหญ่ของนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 25 ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (เมื่อ 19/06/59) พระองค์ที่โชว์นี้มีเสน่ห์เป็นพิเศษตรงที่เป็นพระไม่ได้ใช้เลย วางบนหิ้งมาแต่เดิม มีขี้ยุงเกาะ เป็นพระแท้ดูง่าย ถือเป็น “พระองค์ครู” ได้เลย เป็นพระของ ศ.นพ.พรพรหม เมืองแมน อาจารย์แพทย์โรงพยาบาลศิริราช
“พระผงรุ่น 5 มหาเมตตา หลังข้าวสาร หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค ปี 2516 ของ ชาย สีลม”


“พระเครื่องหลวงพ่อพรหม วัดช่องแค” อ.ตาคลี จ.นครสรรค์ อีกรุ่นหนึ่งที่นักสะสมพระสายนี้นิยมกันมาก คือ “พระผงรุ่น 5 มหาเมตตา ปี 2516” สร้างโดย “คุณหมอสมสุข คงอุไร” เพื่อแจกให้ศิษยานุศิษย์และผู้ที่เคารพนับถือโดยเฉพาะ พระรุ่นนี้จึงไม่มีจำหน่ายที่วัด มีทั้งหมด 9 พิมพ์ อาทิ พิมพ์สมเด็จ 2 หน้า (มี 2 แบบ), พระพิมพ์สมเด็จ หลังยันต์ตรายาง, หลังข้าวสาร, หลังรูปเหมือน, พิมพ์รูปเหมือนในซุ้มระฆัง หลังยันต์สิบ,พิมพ์รูปเหมือนหลังเตารีด (ใหญ่-เล็ก), พิมพ์ใบขี้เหล็ก ฯลฯ ที่เรียกว่า “5 มหาเมตตา” ก็เพราะพระรุ่นนี้ “หลวงพ่อพรหม” ได้ปลุกเสกถึง 5 ครั้ง โดยเน้นด้านเมตตามหานิยมเป็นพิเศษ เหมือนหลวงพ่อจะรู้ว่า พระรุ่นนี้จะเป็น “รุ่นสุดท้าย” ก่อนที่ท่านจะมรณภาพ (เมื่อ 30 มกราคม 2518 สิริอายุ 90 ปี พรรษา 71) ทุกครั้งที่ “หลวงพ่อพรหม” ปลุกเสกพระเครื่องท่านเปิดตาตลอดเวลา พร้อมทั้งสัมผัสจับต้ององค์พระตลอดเวลา โดยใช้เวลาปลุกเสกไม่นานนัก...เพียงแค่นี้ก็เข้มขลังมากพอแล้ว แต่สำหรับ “พระผงรุ่น 5 มหาเมตตา”ปลุกเสกถึง 5 ครั้ง แล้วจะขลังขนาดไหน??? “พระสมเด็จ 5 มหาเมตตาหลังข้าวสารเสก” สื่อความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ไม่อดอยาก องค์นี้สวยสมบูรณ์มาก ได้รับรางวัลที่ 1 งานใหญ่ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (15 พ.ค.2554) เป็นพระของ“ ชาย สีลม” “เหรียญหล่อโบราณ หลวงพ่อจั่น วัดบางมอญ อยุธยา เนื้อโลหะผสม ของ เซี๊ย วัดหนัง”


“หลวงพ่อจั่น วัดบางมอญ” เป็นพระเกจิอาจารย์ยุคเก่าของ จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้มีความเก่งกล้าทางวิชาอาคมต่างๆ เป็นอย่างยิ่ง “เหรียญหล่อโบราณ” ของท่านสร้างประมาณปี 2460 เป็นนิยมกันอย่างกว้างขวาง ด้วยประสบการณ์ที่เกิดขึ้นมากมาย จนเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของชาวบ้าน ทั้งในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหรียญรุ่นนี้สร้างโดยกรรมวิธีหล่อโบราณ เนื้อโลหะผสม โดยฝีมือช่างชาวบ้าน ที่ดูแล้วมีความคลาสสิกมาก จำนวนสร้างน้อยมาก ด้วยความลึกของปีที่สร้าง จึงคาดว่าน่าจะมีไม่กี่ร้อยเหรียญ ทุกวันนี้จึงหา “เหรียญแท้” ได้ยากยิ่ง เหรียญในภาพนี้สวยคมชัดสมบูรณ์มาก สภาพเดิมๆ มีรอยจารอักขระทั้งหน้าและหลัง เป็นเหรียญของ เซี๊ย วัดหนัง นักสะสมพระเครื่องคนรุ่นเก่า ผู้มีความชำนาญในการดูพระได้หลายหน้าอย่างแม่นยำ เฉพาะเหรียญรุ่นนี้มีถึง 5 เหรียญ


“เหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ ปี 2503 เนื้อทองแดงรมดำ ของไชยา พัฒนาสุวรรณ”


“เมืองเพชรบุรี” เมื่อ พ.ศ.2487 ได้เกิดภัยสงคราม มีระเบิดลงทุกวัน เพื่อทำลายสถานีรถไฟ สะพานข้ามแม่น้ำ ฯลฯ จนเกิดความเดือดร้อนไปทั่วทุกแห่งหน ขณะเดียวกันก็มีข่าวเลื่องลือกันว่า ชาวบ้านที่มี “ผ้ายันต์” หรือวัตถุมงคลของ“หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ” กลับไม่ได้รับอันตรายใดๆ เลย ทำให้ชื่อเสียงของท่านโด่งดังไปทั่ว มีผู้ไปขอบารมีท่านเป็นที่พึ่งไม่ขาดสาย “หลวงพ่อแดง” เป็นพระใจดีมีเมตตาสูง และอารมณ์ดีเสมอ จึงเป็นเคารพศรัทธาเลื่อมใสของชาวบ้านตลอดมา...เมื่อปี 2502 หลวงพ่อได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ “พระครูญาณวิลาส” คณะศิษย์จึงได้จัดงานฉลองและทำบุญอายุ 82 ปี ให้ท่านในปี 2503 โดยได้สร้างเหรียญรูปเหมือนของท่านขึ้นเป็นที่ระลึก มี 2 เนื้อ คือ เนื้อเงิน และเนื้อทองแดงรมดำ นับเป็น “เหรียญรุ่นแรก” ของท่าน ที่ได้รับความนิยมสูงจนถึงทุกวันนี้...สมัยหนึ่งมีผู้ทำ “เหรียญปลอม” ของรุ่นนี้ออกมา มีความใกล้เคียงกับเหรียญจริงมาก ลือกันว่าเป็น “บล็อกฮ่องกง” คือ สั่งทำเหรียญปลอมนี้มาจากฮ่องกง แต่ความจริงไม่ใช่ เป็นการทำกันในเมืองไทย โดยนำเหรียญแท้ไปถอดพิมพ์จึงมีความเหมือนกันมาก จนไม่มีใครกล้าเช่าเหรียญนี้ในช่วงเวลาหนึ่ง ต่อมาได้มีผู้จำผิดชี้จุดตำหนิเหรียญปลอมได้ จึงมีผู้กล้าเช่าบูชากันอีกครั้งหนึ่ง...“หลวงพ่อแดง” เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2421 ที่บ้านสามเรือน ต.บางจาก อ.เมือง จ.เพชรบุรี มรณภาพเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2517 ในท่าพนมมือไว้บนอก สิริอายุ 96 ปี พรรษา 75 เหรียญในภาพนี้เป็นของ“ ไชยา พัฒนาสุวรรณ”


“ขอขอบพระคุณ” ทุกท่านที่ติดตามอ่านคอลัมน์นี้ พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า...“อายุบวร”