ยอดนิยมจากคมเลนส์ ตอนที่ 18

24 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 12562 ครั้ง

สัปดาห์นี้ยังอยู่ในบรรยากาศของ เหรียญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อันดับแรก คือ เหรียญมหามงคลพระชนมพรรษา 60 พรรษา (ที่ระลึกครบ 5 รอบ) วันที่ 5 ธันวาคม 2530 เป็นเหรียญที่ระลึกที่ออกแบบได้สวยงามไม่ซ้ำรูปแบบใด เป็นเหรียญที่ได้รับความสนใจจากนักสะสมในวงกว้าง ตั้งแต่สมัยที่เหรียญนี้ออกใหม่ๆ และเพิ่มความนิยมมากขึ้นในชั่วโมงนี้ เหรียญในภาพนี้เป็นเนื้อทองคำ ของ ผเลสน์ศิริ ปิติสานต์ ผู้มีความจงรักภักดีและเทิดทูน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อย่างสูง จึงตั้งใจสะสมเหรียญที่เกี่ยวเนื่องกับล้นเกล้าฯ ทุกรุ่นด้วยเนื้อทองคำตลอดมา


2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา วงการพระเครื่องทุกแห่งมีการซื้อขายกันแต่ เหรียญในหลวง อย่างคึกคัก นอกจาก เหรียญพระมหาชนก แล้วก็มี เหรียญคุ้มเกล้า ปี 2522 ที่ได้รับความสนใจสูง เหรียญนี้จัดสร้างโดย มูลนิธิคุ้มเกล้า โรงพยาบาลภูมิพล ดอนเมือง เพื่อหาทุนก่อสร้าง “ตึกคุ้มเกล้า” และจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ พิธีปลุกเสกใหญ่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) 4 วัน 4 คืน โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดังทั่วประเทศนั่งปรกอธิษฐานจิต จัดสร้างด้วยเนื้อทองคำ เนื้อเงิน และเนื้อนวโลหะ ในภาพนี้เป็น เหรียญเนื้อเงิน พิมพ์ใหญ่ ของ อนุศักดิ์ กิตติศิริสวัสดิ์ ก่อนหน้านี้ไม่นาน เหรียญเนื้อเงินเช่าหากันที่ประมาณ 2,000 บาท ต่อมาราคาพุ่งขึ้นไปถึง 12,000 บาท จนถึงช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาปรับลงอยู่ที่ 7-8 พันบาท และได้คงที่อยู่หลายวัน


สนามพระทางภาคเหนือ เหรียญที่ซื้อขายกันอย่างจริงจัง คือ เหรียญหลวงปู่แหวน รุ่น ภปร.และ เหรียญหลวงพ่อเกษม เขมโก รุ่น ภปร. ตามมาด้วย เหรียญที่ระลึกสำหรับชาวเขา หรือ เหรียญชาวเขา ที่แจกให้ชาวเขาสมัยก่อนใช้แทนบัตรประชาชน ต่อมาการสำรวจสัมมะโนประชากรทำได้ทั่วถึง ชาวเขาทุกเผ่าที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย ได้รับ สัญชาติไทย กันทั่วหน้า และมีบัตรประชาชนกันทุกคน เหรียญชาวเขา ก็เลยหมดความจำเป็น กลายมาเป็นของสะสมที่สูงค่าสำหรับ “ชาวเรา” เพราะเป็นของพระราชทานจากล้นเกล้าฯ โดยตรง สมัยก่อนเหรียญละไม่กี่ร้อยบาท มาถึงทุกวันนี้ กระแส “เหรียญในหลวง” มาแรง ราคาซื้อขายขยับขึ้นสู่หลักพัน จังหวัดที่หายากๆ อาทิ จ.น่าน (นน) จ.ลำพูน (ลพ) จ.แม่ฮ่องสอน (มส) ฯลฯ สวยๆ อาจจะสูงถึง 4-5 พันบาท ลักษณะเหรียญชาวเขา เป็นเหรียญห้อยคอ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 ซม. ด้านหน้าเป็นพระรูป ร.9 ด้านหลังเป็นรูปแผนที่ประเทศไทย และมีตัวย่อของชื่อจังหวัดต่างๆ ที่มีชาวเขาอาศัยอยู่ พร้อมกับหมายเลขกำกับในแต่ละเหรียญ ในภาพนี้เป็นเหรียญของ จ.ลำพูน (ลพ) ของ ไก่ สวนดอก (ศราพงค์ วงค์น้ำ) ชาวเชียงใหม่ ที่เก็บเหรียญนี้มาตั้งแต่ราคาหลักร้อยเท่านั้น


ต่อไปเป็น เหรียญพระราชทาน “ลูกเสือ” สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2506 เพื่อพระราชทานแก่ ลูกเสือชาวบ้าน ที่ทำคุณประโยชน์แก่กิจการลูกเสือ และการกระทำความดีความชอบ ในการช่วยเหลือผู้อื่น อาทิ การรักษาความปลอดภัย หรือรักษาความสันติสุขเพื่อ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ฯลฯ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลูกเสือ ก็จะได้รับการพิจารณาให้เข้ารับพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขนาดเหรียญกว้าง 2.5 ซม. ชั่วโมงนี้ราคายังไม่สูงนัก มีการซื้อขายกันที่หลักร้อยต้นถึงหลักร้อยกลางเท่านั้น


ล็อกเกตพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 จัดสร้างโดย มูลนิธิศรีรัตนโกสินทร์ (ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี) วัดสุทธาราม สำเหร่ โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้จัดสร้างอย่างถูกต้อง ด้านหลังเป็นแผ่นทองคำฝังพระยอดธง และบรรจุมวลสารผงศักดิ์สิทธิ์มากมาย ของ ชาย พฤกษ์คุ้มวงศ์ ยงเกียรติการพิมพ์ สี่พระยา


(ขอขอบพระคุณ ทุกท่านที่ได้ติดตามอ่านคอลัมน์นี้ พบกันใหม่ในสัปดาห์ต่อไป…อายุบวร)


เหรียญมหามงคลพระชนมพรรษา 60 พรรษา (ที่ระลึกครบ 5 รอบ) พ.ศ.2530 ของ ผเลสน์ศิริ ปิติสานต์
เหรียญมหามงคลพระชนมพรรษา 60 พรรษา (ที่ระลึกครบ 5 รอบ) พ.ศ.2530 ของ ผเลสน์ศิริ ปิติสานต์
center
เหรียญคุ้มเกล้า ปี 2522 เนื้อเงิน พิมพ์ใหญ่ ของ อนุศักดิ์ กิตติศิริสวัสดิ์

เหรียญชาวเขา จ.ลำพูน (ลพ) ของ ไก่ สวนดอก (ศราพงค์ วงค์น้ำ)
เหรียญชาวเขา จ.ลำพูน (ลพ) ของ ไก่ สวนดอก (ศราพงค์ วงค์น้ำ)

เหรียญพระราชทาน “ลูกเสือ” พ.ศ.2506
เหรียญพระราชทาน “ลูกเสือ” พ.ศ.2506

ล็อกเกตพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 9 ของ ชาย พฤกษ์คุ้มวงศ์
ล็อกเกตพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 9 ของ ชาย พฤกษ์คุ้มวงศ์