ยอดนิยมจากคมเลนส์ ตอนที่ 27

24 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 11856 ครั้ง

ยอดนิยมจากคมเลนส์    โดย  แล่ม จันท์พิศาโล


      ยอดนิยมจากคมเลนส์  วันนี้ขอเริ่มที่ พระสมเด็จ พิมพ์สังฆาฏิ กรุบางขุนพรหม พระพิมพ์นี้มีทั้ง “มีหู” และ “ไม่มีหู” เอกลักษณ์สำคัญของพระพิมพ์นี้ คือ อกมีเส้นนูนหนาพาดผ่านเห็นชัดเจน ดูเหมือนกับ “ผ้าสังฆาฏิ” อันเป็นที่มาของชื่อพระพิมพ์นี้ องค์พระประทับนั่งสมาธิในลักษณะโย้เล็กน้อย โดยไหล่ขวาขององค์พระจะยกสูงกว่าไหล่ซ้าย วงแขนที่ประสานกันม้วนเป็นวงกลม มีหักศอกเล็กน้อยให้เป็นเหลี่ยม เส้นแซมใต้องค์พระเห็นชัดเจน พระองค์นี้มี คราบกรุ ปกคลุมหนามาก เกาะติดแน่นทั่วองค์พระ เข้าใจว่าพระองค์นี้ก่อนเปิดกรุจะแช่อยู่ในน้ำภายในองค์เจดีย์ ซึ่ง “นักตกเบ็ดพระ” สมัยนั้นกรอกน้ำลงไปทางคอเจดีย์ หวังให้องค์พระลอยออกมาจากผนังเจดีย์ จนน้ำนองพื้นเจดีย์ไปหมด คราบกรุ นี้เป็นแบบแท้ธรรมชาติ ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของพระกรุนี้ และเป็นจุดหนึ่งที่สามารถชี้ชัดว่าเป็น    พระแท้ หรือ พระปลอม องค์นี้เป็นพระที่กดพิมพ์ได้คมชัดลึกมาก เนื้อมวลสารดูง่าย สภาพเดิมๆ ไม่ชำรุดอุดซ่อมแต่อย่างใด เป็นพระของ ณัฐพงษ์ ชวาลรัตนสกุล (ต้น ท่าพระจันทร์) แชมป์ “แฟนพันธุ์แท้พระเหรียญ” ปี 2551


พระสมเด็จ พิมพ์สังฆาฏิ (ไม่มีหู) กรุบางขุนพรหม ของ ต้น ท่าพระจันทร์
พระสมเด็จ พิมพ์สังฆาฏิ (ไม่มีหู) กรุบางขุนพรหม ของ ต้น ท่าพระจันทร์

               สมัยนี้ พระกรุ หายากทั้งองค์พระและภาพ แต่เป็นที่น่ายินดีที่ช่วงนี้ยังพอมีนักสะสม พระกรุ ส่งภาพมาให้บ้าง องค์นี้คือ พระยอดขุนพล กรุวัดบรมธาตุ เมืองกำแพงเพชร เนื้อดินเผา เป็นพระปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่บนฐานในซุ้มทรงห้าเหลี่ยม คล้ายกับรูปทรงใบเสมา เซียนพระสมัยก่อนจึงเรียกว่า "พระเสมาตัด" มาในระยะหลังคนรุ่นใหม่เห็นว่า คำว่า "ตัด" ฟังแล้วไม่ค่อยจะเป็นมงคลนัก จึงตัดคำนี้ออกไป เหลือเพียง พระยอดขุนพล กำแพงเพชร ก็เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไป องค์นี้พิเศษตรงที่มีปีกกว้าง สภาพสวยสมบูรณ์ ฟอร์มดี เป็นพระแท้ตาเปล่า ติดรางวัลงานยักษ์ ที่ รร.นรต.สามพราน (12 ก.พ.60) หมวดพระยอดขุนพลไม่จำกัดพิมพ์ องค์นี้เป็นพระของ ศ.นพ.พรพรหม เมืองแมน โรงพยาบาลศิริราช

พระยอดขุนพล ชากังราว กรุวัดบรมธาตุ เมืองกำแพงเพชร เนื้อดินเผา ของ ศ.นพ.พรพรหม เมืองแมน โรงพยาบาลศิริราช
พระยอดขุนพล ชากังราว กรุวัดบรมธาตุ เมืองกำแพงเพชร เนื้อดินเผา ของ ศ.นพ.พรพรหม เมืองแมน โรงพยาบาลศิริราช
พระยอดขุนพล ชากังราว กรุวัดบรมธาตุ เมืองกำแพงเพชร เนื้อดินเผา ของ ศ.นพ.พรพรหม เมืองแมน โรงพยาบาลศิริราช

           พระร่วงนั่งหลังลิ่ม เนื้อชินเงิน กรุวัดช้างล้อม  อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เป็นพระเครื่องขนาดกะทัดรัด สูงประมาณ 3.5 ซม. กว้างประมาณ 2.5 ซม. พุทธลักษณะ องค์พระประทับนั่งปางมารวิชัย บนอาสนะแบบฐานเขียง ศิลปะอู่ทองยุคต้น (อู่ทองหน้าแก่) มีความงดงามแบบคลาสสิก ด้านหลังขององค์พระเป็น ร่องลิ่ม ลึกลงไปในเนื้อพระ อันเป็นที่มาของชื่อ พระร่วงนั่งหลังลิ่ม บางองค์ด้านหลังไม่เป็น ร่องลิ่ม ก็มี เป็นแบบเรียบๆ เรียกว่า พระร่วงนั่งหลังตัน ทั้ง 2 พิมพ์นี้มีพุทธคุณเด่นดังทางเมตตามหานิยม คงกระพันชาตรี และแคล้วคลาด ปลอดภัย (ข้อมูลจาก “เต้ สระบุรี”) องค์นี้เป็นพระของพรรค คูวิบูลย์ศิลป์ ผู้ชำนาญพระกรุพระเก่ายอดนิยม มีร้านอยู่ใน “ชมรมพระเครื่องมรดกไทย” โซนใหม่ ชั้น 2 ห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน


พระร่วงนั่งหลังลิ่ม เนื้อชินเงิน กรุวัดช้างล้อม อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ของ พรรค คูวิบูลย์ศิลป์
พระร่วงนั่งหลังลิ่ม เนื้อชินเงิน กรุวัดช้างล้อม อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ของ พรรค คูวิบูลย์ศิลป์

          ในโอกาสครบรอบ 100 ปี แห่งวันมรณภาพของเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน 2515 วัดระฆังโฆสิตาราม ได้จัดสร้างวัตถุมงคลขึ้นเป็นที่ระลึกหลายอย่าง ที่นิยมกันมาก คือ    พระเนื้อผงพิมพ์สมเด็จ ที่เรียกกันว่า พระสมเด็จ 100 ปี วัดระฆัง มีพิมพ์ต่างๆ อาทิ พิมพ์เศียรโต เอ, พิมพ์เศียรโต บี, พิมพ์เส้นด้าย, พิมพ์ไข่ปลาเลือน, พิมพ์ซุ้มซ้อน และพิมพ์ต้อ  สำหรับ พิมพ์ต้อ ยังแบ่งออกเป็น 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ต้อใหญ่ และพิมพ์ต้อเล็ก องค์ในภาพนี้เป็น พิมพ์ต้อเล็ก เป็นพระที่กดพิมพ์ได้เต็ม 100% คมชัดลึกทุกมิติ โดยเฉพาะพระเศียรมีขนาดกลมใหญ่มาก คาดว่าเป็นพระที่กดพิมพ์ในช่วงแรกๆ เนื่องจากความสมบูรณ์ของ “แม่พิมพ์” และความตึงแน่นของผิวพระ บ่งบอกว่า “แม่พิมพ์” ขณะกดพิมพ์นั้นมีความสะอาดมาก ตลอดทั้งองค์พระไม่มีรอยเขยื้อนจากการกดพิมพ์เลย องค์พระล่ำสัน สวยงามมาก   พระฟอร์มลึกล่ำขนาดนี้ปัจจุบันหายากมาก องค์นี้เป็นพระของ ป.สตูดิโอ ผู้ชำนาญพระสายนี้


พระสมเด็จ 100 ปี วัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ต้อเล็ก ของ ป.สตูดิโอ
พระสมเด็จ 100 ปี วัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ต้อเล็ก ของ ป.สตูดิโอ

          หลวงพ่อมุ่ย พฺทฺธรักขิโต วัดดอนไร่อ.สามชุก  จ.สุพรรณบุรี ท่านเกิดเมื่อ พ.ศ.2437 สมัยรัชกาลที่ 5 มรณภาพเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2517 สมัยรัชกาลที่ 9 สิริรวมอายุได้ 86 ปี ท่านเป็นศิษย์ของ หลวงปู่อ้น วัดดอนบุบผาราม, หลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา, หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า, หลวงพ่อกูน วัดบ้านทึง, ฯลฯ หลวงพ่อมุ่ย เป็นพระอริยสงฆ์ที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยมาก ขยันในการศึกษาหาความรู้ทุกด้าน โดยเฉพาะในเรื่องอักขระเลขยันต์ คาถาอาคมของท่านจึงเข้มขลัง ทำให้วัตถุมงคลทุกรุ่นได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เหรียญในภาพนี้ออกใน วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 12 สิงหาคม 2516 เป็นเหรียญกลม เนื้ออัลปาก้า มีประสบการณ์มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่มีชาวบ้านโดนฟ้าผ่า แต่ไม่ตาย ในตัวแขวนเหรียญรุ่นนี้อยู่เพียงเหรียญเดียว ขณะที่สายสร้อยที่แขวนเหรียญขาดกระจุย ชาวบ้านจึงเรียกเหรียญรุ่นนี้ว่า รุ่น “ฟ้าผ่า” ทุกวันนี้เป็นเหรียญหายาก ที่น่าสนใจ คือ ราคาเช่าหาอยู่ในหลักหมื่นต้นๆ เท่านั้น จัดเป็นเหรียญดีราคาไม่สูงมากนัก เจ้าของเหรียญนี้ คือ เลิศ สุพรรณ นักสะสมพระกรุพระเก่าเมืองสุพรรณ และทั่วๆ ไป


เหรียญหลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี รุ่น "ฟ้าผ่า" ปี 2516 เนื้ออัลปาก้า ของ เลิศ สุพรรณ
เหรียญหลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี รุ่น "ฟ้าผ่า" ปี 2516 เนื้ออัลปาก้า ของ เลิศ สุพรรณ

ขอขอบพระคุณ ทุกท่านที่ติดตามอ่านคอลัมน์นี้มาตลอด ขอให้โชคดีมี พระแท้ ติดตัวเสมอ...อายุบวร