ยอดนิยมจากคมเลนส์ ตอนที่ 41

23 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 12971 ครั้ง

ยอดนิยมจากคมเลนส์ ตอนที่41  

โดย แล่ม จันท์พิศาโล


พระปิลันทน์ วัดระฆัง พิมพ์ซุ้มครอบแก้วใหญ่ (ภาพจากหนังสือ“พระสมเด็จ วัดระฆัง”งานประกวดพระ รร.นรต.จ.นครปฐม 26 พ.ค.2556 จัดทำโดยนิตยสาร “พระท่าพระจันทร์”) (ด้านหน้า)
พระปิลันทน์ วัดระฆัง พิมพ์ซุ้มครอบแก้วใหญ่ (ภาพจากหนังสือ“พระสมเด็จ วัดระฆัง”งานประกวดพระ รร.นรต.จ.นครปฐม 26 พ.ค.2556 จัดทำโดยนิตยสาร “พระท่าพระจันทร์”) (ด้านหลัง)

     สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ม.จ.ทัด เสนีย์วงศ์) เป็นเจ้านายชั้นสูง บรรพชาอุปสมบทอยู่ที่วัดระฆัง ในสมัย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จึงได้รับการถ่ายทอดพุทธาคมจากท่านเจ้าประคุณสมเด็จ (โต) ทุกอย่าง เมื่อท่านได้สร้างพระเครื่องเนื้อผง โดยไม่ได้ลอกเลียนแบบพิมพ์ทรง พระสมเด็จ ของอาจารย์ พระเนื้อผงที่ท่านสร้างขึ้นนั้นมีความโดดเด่นสวยงามด้านพิมพ์ทรงมาก อาทิ พระพิมพ์ซุ้มประตู ซึ่งเชื่อกันว่าเป็น ฝีมือช่างหลวง รวมทั้งพระเนื้อผงพิมพ์อื่นๆ ที่มีพิมพ์ทรงแตกต่างไปจากพระเนื้อผงทั่วๆ ไป พระเนื้อผงของท่านสร้างในสมัยที่ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพุทธบาทปิลันทน์ จึงมีการเรียกชื่อพระเครื่องของท่านว่า พระปิลันทน์ มีหลายพิมพ์ เนื้อออกเทาเข้ม มีทั้งพระที่ไม่ได้บรรจุกรุ เป็นพระที่แจกในสมัยท่านยังอยู่ และอีกส่วนหนึ่งบรรจุกรุ พระส่วนนี้จะมี คราบกรุ ตามองค์พระเป็นไขขาว ถือเป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะของพระกรุนี้ วันนี้มีภาพมาให้ชม 1 องค์ คือ พระปิลันทน์ พิมพ์ซุ้มครอบแก้วใหญ่ องค์นี้เห็นคราบกรุที่เป็นไขขาวคลุมทั้งองค์พระ ทำให้ง่ายต่อการพิจารณาว่าเป็น พระแท้ ได้โดยสะดวก (ภาพจากหนังสือ“พระสมเด็จ วัดระฆัง” งานประกวดพระ รร.นรต. จ.นครปฐม 26 พ.ค.2556 จัดทำโดยนิตยสาร “พระท่าพระจันทร์”)


พระหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค พิมพ์ทรงหนุมานหาวเป็นเดือนเป็นดาว ของ รัก สุพรรณ (ด้านหน้า)
พระหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค พิมพ์ทรงหนุมานหาวเป็นเดือนเป็นดาว ของ รัก สุพรรณ (ด้านหลัง)

พระหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค พิมพ์ทรงหนุมานหาวเป็นเดือนเป็นดาว ของ รัก สุพรรณ (ด้านข้าง)
พระหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค พิมพ์ทรงหนุมานหาวเป็นเดือนเป็นดาว ของ รัก สุพรรณ (ด้านบน)
พระหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค พิมพ์ทรงหนุมานหาวเป็นเดือนเป็นดาว ของ รัก สุพรรณ (ด้านข้าง)

     หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ได้สร้างพระเครื่องเนื้อดินเผา รูปสี่เหลี่ยมตัดมุม เป็นรูปองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประทับนั่งบนบัลลังก์บัวตุ่ม เหนือรูปสัตว์ 6 ชนิด คือ ไก่ ครุฑ หนุมาน นก เม่น ปลา ในส่วนนี้เป็น “พิมพ์มาตรฐาน” นำออกแจกจ่ายในพ.ศ.2460 องค์พระมีความหนากว่าพระพิมพ์ทั่วไป ขอบด้านบนตรงกลางได้บรรจุ “ผงพุทธคุณ” ซึ่งเป็นผงเกราะเพชรพระพุทธเจ้า มีความศักดิ์สิทธิ์มาก พระพิมพ์ทรงหนุมาน มีหลายพิมพ์ อาทิ พิมพ์หนุมานทรงเครื่อง, พิมพ์หนุมานเปลือย, พิมพ์หนุมานแบกแท่น, พิมพ์หนุมานยันต์แถวเดียว, พิมพ์หนุมานหาวเป็นเดือนเป็นดาว (องค์ในภาพนี้) พิมพ์นี้ออกแบบได้งดงามอลังการมาก ตามประวัติ หนุมาน เป็นทหารเอกของ พระราม รบชนะทุกครั้ง เป็นผู้มีชีวิตอมตะ ไม่มีวันตาย เพราะเป็นลูกของ พระพาย (ลม) กับ นางสวาหะ หากได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต เมื่อถูกลมพัดถูกกายก็จะพลิกฟื้นคืนชีวิตได้ทันที พระหลวงพ่อปาน พิมพ์หนุมานหาวเป็นเดือนเป็นดาว องค์นี้เป็นพระแท้ดูง่าย ของ รัก สุพรรณ ผู้ชำนาญพระเครื่องหลายประเภท


เหรียญหลวงพ่อโต (พระมหาพุทธพิมพ์) วัดไชโย จ.อ่างทอง รุ่นแรก ปี 2461 ของ ใหญ่ พนัสนิคม (ด้านหน้า)
เหรียญหลวงพ่อโต (พระมหาพุทธพิมพ์) วัดไชโย จ.อ่างทอง รุ่นแรก ปี 2461 ของ ใหญ่ พนัสนิคม (ด้านหลัง)

     วัดไชโยวรวิหาร อ.ไชโย จ.อ่างทอง นอกจากจะมี พระสมเด็จ ที่ สมเด็จฯ โต วัดระฆัง สร้างบรรจุกรุในองค์พระประธานที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อโต” (พระมหาพุทธพิมพ์) แล้ว ก็ยังมีการสร้าง เหรียญหลวงพ่อโต เมื่อปี 2461 อีกด้วย นับเป็นเหรียญรุ่นแรกที่ได้รับความนิยมสูง พิมพ์รูปโล่ (อาร์ม) คล้ายกับ เหรียญหลวงพ่อโสธร ปี 2460 มี 3 เนื้อ คือ เนื้อเงิน, ทองแดง และสัมฤทธิ์  ด้านหน้าเหรียญเป็นรูป หลวงพ่อโต (พระมหาพุทธพิมพ์) ปางสมาธิราบ ประทับอยู่เหนืออาสนะฐานบัวคว่ำบัวหงายแถวละ 7 กลีบ ด้านบนมีอักษรว่า "พระพุทธรูปวัดไชโย" ด้านล่างมีอักษรไทยตัว "น.ถ.จ.ก."(ย่อมาจาก “นาถาจารุประกร” ซึ่งเป็นร้านผลิตเหรียญนี้) และมีอักขระขอมตัว "อุ" อยู่ระดับพระชานุ (หัวเข่า) ทั้งสองข้าง ส่วนด้านหลังมีอักขระทั้งสี่มุมเป็นหัวใจ นิพพานสูตร คือ จิ-จิต, เจ-เจตสิก, รุ-รูป,นิ-นิพาน ตรงกลางมีอักขระขอม อ่านว่า “สุขขิโหตุ” หมายถึง “ความสุขจงบังเกิดแก่ท่าน”...ด้านล่างสุดระบุปีที่สร้างเหรียญนี้ คือ พ.ศ.๒๔๖๑ เหรียญนี้เป็นของ ใหญ่ พนัสนิคม คนรุ่นใหม่ผู้มีสายตาเฉียบขาดในพิจารณาเหรียญพระเกจิอาจารย์ยุคเก่า


พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ หลังเตารีด พิมพ์ใหญ่ เอ ปี 2505 เนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง ของ ไก่ ปอร์เช่ (ด้านหน้า)
พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ หลังเตารีด พิมพ์ใหญ่ เอ ปี 2505 เนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง ของ ไก่ ปอร์เช่ (ด้านหลัง)


พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ หลังเตารีด พิมพ์ใหญ่ เอ ปี 2505 เนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง ของ ไก่ ปอร์เช่ (ด้านข้าง)
พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ หลังเตารีด พิมพ์ใหญ่ เอ ปี 2505 เนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง ของ ไก่ ปอร์เช่ (ด้านข้าง)

      พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ หลังเตารีด พิมพ์ใหญ่ เอ ปี 2505 เนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง เป็นพระหล่อนำฤกษ์ภายในวัดช้างให้ ในพิธีเททองหล่อพระรุ่นนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร (พระองค์ชายกลาง) ได้นำทองคำ นาก เงิน เป็นก้อนๆ ใส่ลงไปที่เบ้าหลอม และยังมีชาวบ้านที่มาร่วมงานจำนวนมาก มีจิตศรัทธานำสร้อย แหวน ทองคำ ใส่ลงไปในเบ้าหลอมด้วย ทำให้ พระหลวงพ่อทวด หลังเตารีด พิมพ์ใหญ่ เนื้อเหลือง ที่หล่อนำกฤษ์หลายองค์ที่เคยพบเจอ จะมีมวลสารของเนื้อทองคำที่หลอมไม่ละลาย ปรากฏอยู่ตามซอกขององค์พระอย่างเห็นได้ชัด พระองค์นี้ดีกรีแชมป์ที่ 1 งานประกวดพระที่สมาคมผู้นิยมพระเครื่องฯ ให้การสนับสนุน หลายงานในอดีต ล่าสุดงานของ ชมรมพระเครื่องเทสโก้โลตัสปิ่นเกล้า เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา เจ้าของพระ ไก่ ปอร์เช่ ผู้บริหารสถาบันการเงินชื่อดังในเมืองไทย


center
เหรียญครูบาวัง วัดบ้านเด่น จ.ตาก รุ่นแรก ปี 2506 (เหรียญจิ๊กโก๋ พิมพ์นิยม) ของ ร้านเวียงระแหง จ.ตาก

       ครูบาวัง พรหมเสโน วัดบ้านเด่น ต.หนองบัวเหนือ อ.เมือง จ.ตาก เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีวิชาอาคมขลัง น่าเคารพศรัทธาเลื่อมใสมาก ท่านเกิดที่บ้าน ต.เหมืองจี้ อ.เมือง จ.ลำพูน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน 2434 อายุ 12 ปีได้บรรพชาเป็นสามเณร ต่อมาได้อุปสมบทเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2455 ณ วัดบ้านแป้น อ.เมือง จ.ลำพูน โดยมี พระกันธิยะ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการปั๋น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการปุ้ม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "พรหมเสโน" ท่านได้สร้างเครื่องรางประเภท ตะกรุด หลายรูปแบบจนโด่งดังมาก รวมทั้ง สีผึ้ง, น้ำมนต์ ,ชานหมาก และเหรียญรูปเหมือน รุ่นแรก ปี 2506 ท่านได้มรณภาพเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2516 ขณะอายุ 82 ปี พรรษา 62 เหรียญครูบาวัง รุ่นแรก ปี 2506 มี 2 พิมพ์ คือ พิมพ์กลม และพิมพ์รูปไข่ มีทั้งแบบมีหูและไม่มีหูพิมพ์มีหู มีเนื้อเดียว คือ เนื้ออัลปาก้า ชุบนิเกิ้ล ขอบข้างหนา พิมพ์ไม่มีหู มีเนื้อทองแดง กะไหล่ทอง และกะไหล่เงิน ในภาพนี้ชาวบ้านเรียกว่า เหรียญจิ๊กโก๋ เป็นพิมพ์นิยม เหรียญสวยแชมป์ราคาเกินหลักหมื่นขึ้นไป ถือเป็นเหรียญสวยสมบูรณ์ สภาพเดิมๆ เป็นเหรียญของ ร้านเวียงระแหง จ.ตาก