อมตพระกรุ เมืองชัยภูมิ: พระร่วงนั่งกรุคอกควาย

25 กุมภาพันธ์ 2562 ยอดผู้ชม 50656 ครั้ง

พระร่วงนั่งกรุคอกควาย

พระร่วงนั่งกรุคอกควาย เป็นพระศิลปะลพบุรียุคต้น เป็นพระที่ขอมได้บรรจงสร้างอย่างสวยงามเลยทีเดียว กำเนิดของพระร่วงพิมพ์นี้พบที่ บ้านโศกพริกจังหวัดชัยภูมิ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ชาวบ้านได้ทำการขุดหลุมเพื่อทำการสร้างคอกควาย เผอิญได้พบพระจำนวนหนึ่งเป็นพระร่วงนั่งทั้งหมดประมาณ ๓๐ กว่าองค์ เลยเรียกกันว่า “พระกรุคอกควาย” นั่นเอง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้พบพระพิมพ์นี้อีกบริเวณที่เดิมเข้าใจว่าจะเป็นพระที่ตกค้างขึ้นมาไม่หมด พระที่ขึ้นคราวหลังนี้ มีประมาณ ๔๐ กว่าองค์ถือเป็นพระกรุที่มีน้อยมาก พระร่วงกรุคอกควาย ที่แตกกรุออกมาทั้ง ๒ ครั้ง เป็นพระเนื้อตะกั่วสนิมแดง และเนื้อชินเงิน ที่เป็นเนื้อตะกั่วสนิมแดงจะแดงเข้ม ส่วนที่เป็นเนื้อชินเงินผิวจะดำ และมีไขขาวแซม เนื่องจากพระมีน้อย ความต้องการมีมาก พระกรุนี้จึงมีราคาเช่าหาสูง ด้านพุทธคุณสูงไปด้วย ความคงกระพันชาตรี พระร่วงนั่งกรุคอกควาย แตกกรุออกมาครั้งที่ ๒ นั้น ห่างจากที่แตกกรุครั้งแรกประมาณ ๑๕๐ เมตร เข้าใจว่าเป็นพระที่สร้างพร้อมกัน เพียงแต่แตกกรุต่างเวลากันเท่านั้นเอง พระที่แตกกรุออกมาคราวหลังนั้น พิมพ์ทรงต่างๆ เหมือนกันทุกประการ แต่สนิมขององค์พระจะแดงเข้มสู้ของพระที่แตกกรุคราวแรกไม่ได้ แต่การเช่าหาราคามิได้ต่างกันเลย
พระร่วงนั่ง กรุคอกควาย เนื้อตะกั่วสนิมแดง
พระร่วงนั่ง กรุคอกควาย เนื้อตะกั่วสนิมแดง (ด้านหลัง)
พระร่วงยืนกรุคอกควาย เนื้อตะกั่วสนิมแดง ชัยภูมิ
พระร่วงยืนกรุคอกควาย เนื้อตะกั่วสนิมแดง ชัยภูมิ (ด้านหลัง)